Sangtakieng.com
รอยรักข้างหลังภาพ ตามรอยศรีบูรพา (๒)
 
ขอขอบพระคุณและรำลึกถึง : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ
รวบรวม เรียบเรียงและนำเสนอ : รณรงค์ แสงตะเกียง 
facebook : รณรงค์ แสงตะเกียง 

      

เมื่อแรกพบมิตาเกะ

อ่านวรรณกรรมข้างหลังภาพของศรีบูรพา และชมภาพยนตร์ในแบบฉบับของเชิด ทรงศรี อีกครั้งเมื่อปี ๒๕๔๓ รับรู้และซึมซับได้พอควร ถึงความคลาสสิกและภาษาโรแมนติกนั้น แม้เทียบปัจจุบันบางถ้อยคำออกจะคร่ำเก่าไปบ้าง แต่ภาษาวรรณกรรมยังคงไว้อย่างมือชั้นครู ฉากภาพยนตร์เป็นภาพความงามของทิวทัศน์ท่ามกลางแมกไม้ในประเทศญี่ปุ่น สะท้อนภาพวรรณกรรมที่ให้บรรยากาศในต่างประเทศได้อย่างลงตัว
 

นพพรและหม่อมราชวงศ์กีรติ พลอดรักกันที่มิตาเกะ หมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขานอกเมืองโตเกียว ทำให้ต้องจินตนาการตาม แม้สิ่งที่เห็นเบื้องหน้าจะไม่เหมือนกับจินตนาการ เพราะมิตาเกะดูงดงามกว่าที่คิด ไม่นึกว่าจะมีหมู่บ้านเล็กๆ แบบนี้ในญี่ปุ่น มิตาเกะดูเรียบง่ายจริงใจเหมือนเมืองน่าน ไม่หวือหวาแบบเชียงใหม่ ทว่ามีสีสันบางแง่งามเฉกเช่นเมืองปาย
หมู่บ้านธรรมดา เรียบๆ กลางหุบเขาสูง มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเดินเล่นบางตาในวันธรรมดา หากแต่มีมากในวันหยุด มิตาเกะอาจไม่โด่งดังเหมือนบางสถานที่ ไม่ถึงแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของผู้คนในญี่ปุ่น บางคนบอกว่าหากมาเที่ยวญี่ปุ่นถ้าไม่แวะชมทัศนียภาพแถวๆ ภูเขาไฟฟูจิก็เหมือนมาไม่ถึง คราวนี้อยากแนะนำ หากมาญี่ปุ่นลองแวะมิตาเกะสักครั้ง คุณอาจพลั้งเผลอหลงรักหมู่บ้านเล็กๆ ในสวนป่าสองข้างทางแห่งนี้ และมิตาเกะจะกลายเป็นอีกสถานที่ในความทรงจำที่งดงามของคุณ ... ก็เป็นได้
 

 
ตอนที่ ๑
ก่อนเดินทาง นึกสงสัย...ว่าทำไมศรีบูรพาเลือกมิตาเกะเป็นฉากรักของนพพรกับหม่อมราชวงศ์กีรติ ถึงตอนนี้ข้อสงสัยและค้างคาใจเหล่านั้นหมดไปเสียสิ้น ศรีบูรพาบรรยายฉากรักในมิตาเกะผ่านความรู้สึกของนพพรว่า "เหตุการณ์ที่ประกอบด้วยความรู้สึกรุนแรงและร้อนเป็นไฟนี้ ได้เกิดขึ้นที่มิตาเกะ ท่ามกลางกระแสลมหนาวอ่อนๆ แห่งฤดูออตั้ม และท่ามกลางความแวดล้อมด้วยภูมิภาคธรรมชาติที่งดงาม ท่านคงจำมิตาเกะได้ ท่านคงจำภาพที่ข้าพเจ้าได้พรรณนาถึงนั้นได้ ภาพที่ดูเป็นธรรมดาสมัย ไม่มีสิ่งที่น่าสะดุดใจอะไรเลย แต่บัดนี้ท่านกำลังจะได้ประสบชีวิตจริงๆ ข้างหลังภาพนั้น"

ในวรรณกรรมข้างหลังภาพ นพพรพาหม่อมราชวงศ์กีรตินั่งรถไฟมาเที่ยวมิตาเกะ ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ที่คนพลุกพล่านและแน่นมากในฉากหนึ่งนพพรบอกคุณหญิงกีรติว่า "วันอาทิตย์คนญี่ปุ่นจะมีธรรมเนียมการออกท่องเที่ยวพักผ่อนตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของคนญี่ปุ่น" ช่วงที่ซากุระบานดูโรแมนติกมาก นางเอกของเรื่องนี้เป็นตัวแทนคนในสังคมแบบเก่า ช่วงยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี ๒๔๗๕
เสียดายว่า คราวนี้ไม่ได้นั่งรถไฟเดินทางไปมิตาเกะเหมือนฉากหนึ่งในข้างหลังภาพ แต่ก็ได้บรรยากาศไม่ต่างกัน ก่อนจะขึ้นไปมิตาเกะ แลเห็นโขดหินและลำธารที่ศรีบูรพาเขียนขึ้นในฉากหนึ่ง ที่นพพรและคุณหญิงกีรติเดินเล่นร่วมกันอย่างมีความสุข
 

    

 
"ทางที่เราเดินมานั้นได้ลาดต่ำลง มาจนในที่สุดลาดชิดติดไปกับลำธาร เราได้มาถึงต้นทางน้ำตก ซึ่งเป็นบ่อเกิดของลำธารกว้างใหญ่ที่เราได้ผ่านมา กระแสน้ำไหลกระโชกกระชากไปบนก้อนหิน แล้วต่อไปก็ไหลแรงบ้าง ระรินบ้าง ไปตามลำธารที่ค่อยกว้างใหญ่ออกไป บนทางที่เราเดินอยู่นั้นล้อมรอบด้วยเนินเขาสูง เขียวชอุ่มไปด้วยพรรณพฤกษานานาชนิด ในบางขณะเราลงไปยืนอยู่บนก้อนหิน ซึ่งกระแสน้ำแทบจะไหลผ่ารองเท้าของเราไป ทั้งหม่อมราชวงศ์กีรติกับข้าพเจ้าได้กลายเป็นเด็กคู่หนึ่ง ซึ่งสนุกสำราญอยู่ด้วยการกระโดดโลดเล่นไปตามก้อนหินเหล่านั้น"
ศรีบูรพาบรรยายไว้จนแทบจะเห็นภาพอันงดงามของธรรมชาติ เสียดายว่า เราไม่มีเวลาอ้อยอิ่งเหมือนนักหนังสือพิมพ์รุ่นใหญ่ ... ผู้นั้น

ก่อนขึ้นไป นึกไม่ออกเลยว่าหมู่บ้านจะเป็นเช่นไร ครั้นได้เห็นก็อดที่จะหลงรักหมู่บ้านบนภูเขาที่อยู่ท่ามกลางพรรณไม้นานาชนิด แบบมิตาเกะนี้ไม่ได้ เรานั่งเคเบิลคาร์ขึ้นไป หลายคนดีใจที่นักท่องเที่ยวไม่มากนักเพราะไม่ใช่วันหยุด เมื่อถึงด้านบนริมทางเดินจะเข้าหมู่บ้าน สองข้างทางมีสนป่าขนาดใหญ่อายุกว่าพันปี หากไม่รีบเดินนักก็จะได้ชื่นชมความงามของพรรณไม้นานาพันธุ์เหล่านั้น มองดูสวยงาม

 
ตอนที่ ๒
แม้จะเดินออกไกลสักหน่อย เรากลับไม่รู้สึกเหนื่อย แค่ชำเลืองมองเส้นทางเล็กๆ ระหว่างหมู่บ้านก็มีอะไรให้ชมให้มองมากมาย ในหมู่บ้านมิตาเกะดูเงียบแต่ไม่เหงา บ้านเรือนดูน่ารักสะอาดสะอ้าน ทัศนียภาพงดงาม
มิตาเกะเป็นหนึ่งในร้อยสถานที่ ซึ่งสวยที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ทำให้นึกย้อนไปถึงวรรณกรรมข้างหลังภาพอีกครั้ง ศรีบูรพาหรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนเรื่องนี้ในช่วงปี พศ. ๒๔๗๙ ตอนนั้นเขาไปดูงานหนังสือพิมพ์ที่ประเทศญี่ปุ่น
 
 
     

 
"ศรีบูรพาเป็นคนโรแมนติกมาก ถ้าไม่โรแมนติกคงเขียนเรื่องนี้ไม่ได้“
ถ้าจะมองญี่ปุ่นผ่านมุมมองของศรีบูรพา ก็ยังมีเรื่องน่าคิดอีกว่า นักเขียน นักหนังสือพิมพ์อย่างเขา แม้จะเดินทางมาดูงานและมาท่องเที่ยวก็ไม่ยอมสูญเปล่า กับการสร้างมุมความคิดให้ตัวเอง เขาได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ และในช่วงปีนั้นก็มีนักเรียนไทยมาเรียนที่ญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย

อีกฉากหนึ่งในข้างหลังภาพ
"ข้าพเจ้าขยับตัวให้ชิดเธอเข้าไปอีก จนอกทั้งสองแทบจะแนบกัน หม่อมราชวงศ์กีรติเอนกายไปข้างหลังพิงต้นซีดา ข้าพเจ้าทราบได้ว่า เราหายใจแรงทั้งสองคน"
ต้นซีดาในที่นี้คือต้นสนป่าขนาดใหญ่ข้างทางเพื่อจะเข้าหมู่บ้านนั่นเอง มันดูมั่นคงงดงาม ยิ่งตอนนี้ต้นเมเปิลกำลังเปลี่ยนสี ก็ยิ่งดูงดงามประหนึ่งภาพวาดสีสันฉูดฉาด  ที่นี่มีสถานที่ให้พักค้างคืนสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย แต่ส่วนใหญ่มักจะเดินทางท่องเที่ยวในวันเดียว ส่วนใหญ่แล้วคนที่มามิตาเกะจะชอบความเรียบง่ายไม่หวือหวา แม้มิตาเกะจะเป็นสถานที่น่าประทับใจในสายตาของนักท่องเที่ยวและศรีบูรพา แต่บางคนอาจจะรู้สึกว่าที่นี่ดูธรรมดาๆ เกินไป
 

      

 
ในหุบเขาฯ หากเดินไต่ระดับความสูงตามขั้นบันไดขึ้นไป จะเห็นวัดเป็นแหล่งแรก เราได้เรียนรู้ว่าวัดของญี่ปุ่นจะมีบ่อน้ำและกระบวยเพื่อให้ดื่มและชำระล้างร่างกายบางส่วนก่อนเข้าไป ไม่ต่างจากวัดทั่วไปในญี่ปุ่น แต่น้ำเย็นจากภูเขาแบบนี้ มันทำให้รู้สึกดีเหลือเกิน
วัดมิตาเกะแห่งนี้ ตำนานเล่าว่ามีซามูไรคนหนึ่งหลงทางมาที่นี่และหาทางกลับไม่ได้ กระทั่งหมาป่าช่วยชีวิตเอาไว้ ซามูไรจึงได้สร้างศาลเจ้า เพื่ออุทิศคุณงามความดีแก่หมาป่านั้น

ศาลเจ้าฯ มีคนญี่ปุ่นมากราบไหว้อยู่เรื่อยๆ บรรยากาศดูสงบ รอบๆ วัดมีต้นไม้เขียวสดใส ความเงียบและภูมิประเทศงดงาม ไม่อึกทึก ช่างต่างจากตัวเมืองเสียมาก
ที่นี่มีส่วนผสมระหว่างศาสนาดั้งเดิมของญี่ปุ่น ที่มีเทพเจ้ากับการบูชาบรรพบุรุษในแบบชินโตและการนับถือพุทธศาสนา หากทำความเข้าใจกับชินโตแล้ว จะเข้าใจวิถีชีวิตคนญี่ปุ่นได้ดีขึ้น เพราะชินโตนอกจากมีความเชื่อเกี่ยวกับจิตวิญญาณหรือพิธีกรรมที่สืบทอดมานานแล้ว ยังรวมถึงภูมิปัญญาในการดำเนินชีวิตและวิธีคิดที่สืบทอดกันมาเอาไว้ด้วย

คนญี่ปุ่นสมัยปัจจุบัน สมัยใหม่ ยังต้องไปวัดในวันปีใหม่หรืองานเทศกาลของศาลเจ้า ยังนิยมอธิษฐานขอพรในวัด รวมถึงเด็กนักเรียนจะต้องเรียนรู้วัฒนธรรมดั้งเดิม เพื่อให้เข้าใจรากฐานประวัติศาสตร์ของชาติ เวลาท่องเที่ยวเด็กนักเรียนมักจะห่อข้าวกล่องจากบ้านไปด้วย เมื่อถึงเวลาพักก็นั่งล้อมวงรับประทานอาหารร่วมกัน
 

 
ตอนที่ ๓
แม้แรกๆ สงสัยว่า ทำไมต้องมาตามรอยข้างหลังภาพ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวรรณกรรมเรื่องนี้เชื่อมโยงสภาพสังคมไทยและญี่ปุ่นในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อให้เห็นว่า รากฐานทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นเรื่องสำคัญในวิถีชีวิตมนุษย์ ศรีบูรพาเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่อยู่ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พศ. ๒๔๗๕ สังคมยุคที่ผู้หญิงไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น มักจะเก็บงำความรู้สึก ไม่ต่างจากข้างหลังภาพ กว่านพพรจะรู้ว่าคุณหญิงกีรติหลงรักนพพร ก็ช่วงที่คุณหญิงป่วยใกล้เสียชีวิตแล้ว และเรื่องราวที่มิตาเกะก็อยู่ในความทรงจำของเธอตลอดมา
ช่วงที่เดินลงจากมิตาเกะ เราค่อยๆ เดินเลียบไหล่เขา มีผู้คนในชุมชนเดินสวนทางบ้างแต่ไม่มากนัก เราก็ได้รู้ว่า แม้พวกเขาจะมีบ้านอยู่ในหุบเขาสูง แต่ภายในบ้านมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมไม่ต่างจากวิถีคนเมือง
 

มิตาเกะทำให้รู้สึกหวั่นไหว เพราะหลงรักหมู่บ้านเล็กๆ เข้าแล้ว ครุ่นคิดถึงวัฒนธรรมของเรา ... ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่ต่างจากญี่ปุ่น แต่ขาดการจัดการท่องเที่ยวอย่างเข้าใจ ชนชาติญี่ปุ่นเขาเข้าใจดีว่า แม้สังคมจะพัฒนาไปไกลเพียงใด แต่แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ก็ต้องเก็บรักษาไว้ ไม่เช่นนั้นต้นสนอายุหลายพันปี เราก็จะไม่เห็นเหมือนเช่นที่ศรีบูรพาเขียนไว้ในวรรณกรรม
 

    

 
ไม่ว่ายุคของศรีบูรพาหรือยุคของวันนี้ ต้นสนต้นเดิม ลำธารและโขดหินที่เป็นฉากรักในข้างหลังภาพ ยังคงงดงามในสายตาของคนยุคปัจจุบัน วัดเล็กๆ ที่เดินไปมุมไหนยังรับรู้ถึงความสงบเย็น มีความสุขที่ได้มาสถานที่นี้ ภาพมิตาเกะที่ศรีบูรพาบรรยายไว้อย่างงดงาม ไม่ได้งดงามเกินจริง ก่อนจะลงจากยอดเขาเราหันไปมองมิตาเกะอีกครั้ง เชื่อว่าหมู่บ้านแห่งนี้คงจะอยู่ในความทรงจำของเราไปอีกนาน…แสนนาน ลาก่อนรอยทางศรีบูรพา … ลาก่อนรอยรักข้างหลังภาพ

กลับหน้าแรก คลิ๊กตรงนี้
กลับหน้าเมนูหลัก รอยรักข้างหลังภาพ ตามรอยศรีบูรพา (๑) : คลิ๊กตรงนี้

  
MENU
 
WEB LINK
 
VISIT
 สถิติวันนี้ 11 คน
 สถิติเมื่อวาน 254 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
3293 คน
55439 คน
937491 คน
เริ่มเมื่อ 2012-10-14
 
Copyright (c) 2006 by Ronnarong