Sangtakieng.com
 
safe access on wall and gondola operations
วิศวกรรมความปลอดภัยกระเช้ากอนโดลา ตอนที่หนึ่ง นำเสนอหน้านี้
วิศวกรรมความปลอดภัยกระเช้ากอนโดลา ตอนที่สอง คลิ๊กตรงนี้
งานเขียน เรียบเรียง : รณรงค์ แสงตะเกียง 
 
บริษัท เอเซีย แสงตะเกียง จำกัด ASSA : ฝึกอบรม สัมมนา
e-mail : sangtakieng@gmail.com
contact number : 093 7719222
facebook : รณรงค์ แสงตะเกียง 

กระเช้ากอนโดลา Gondola Work Platform 
 
สัดส่วนความสูงของตัวคนมีข้อจำกัด เมื่อต้องการทำงานบนที่สูงจึงต้องใช้อุปกรณ์ เครื่องมือหรือเครื่องจักรเพื่อยกคนขึ้นไป บางลักษณะงานกระเช้าพื้นเรียบ มีราวรั้วกันตกก็เป็นอีกตัวเลือกที่อำนวยความสะดวกได้อย่างดี ค่าใช้จ่ายต่ำและมีความน่าเชื่อถือด้านความปลอดภัยสูง กระเช้าสำหรับทำงานบนสูง (elevated work platform-EWP) มีการยกเคลื่อนย้ายได้หลายรูปแบบ
 
  1.  กระเช้ายกคนแบบไม่มีกลไกยกตัวกระเช้า man basket กระเช้ายกคนแบบนี้ต้องใช้เครนชนิดเคลื่อนที่ (mobile crane) ยกกระเช้าขึ้นไป
  2. กระเช้ายกคนแบบรถ เรียกว่ารถกระเช้า mobile elevated work platform ซึ่งจะมีเจ็ดแบบคือรถกระเช้าแบบเสากระโดง รถกระเช้าแบบเสากระโดงมีแขนยื่น รถกระเช้าแบบขากรรไกร รถกระเช้าแบบแขนตรง รถกระเช้าแบบแขนหักศอก รถกระเช้าแบบกึ่งแขนตรงกึ่งแขนหักศอกและรถกระเช้าแบบกระเช้าติดรถบรรทุก mast lift, mast lift with jib, scissor lift, telescopic boomlift, articulate boomlift, semi-telescopic & articulate boomlift and bucket truck ต้นกำลังขับเคลื่อนกระเช้าเป็นระบบไฮดรอลิกส์ ซึ่งปั้มของชุดต้นกำลังไฮดรอลิกส์จะใช้ชุดเฟืองทดร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าหรือเครื่องยนต์สันดาปภายในขนาดเล็กก็ได้
  3. ลิฟท์ขนส่งของ ลิฟท์ขนส่งคน elevator ทำงานตามแนวดิ่งได้สองทิศทางคือขึ้นกับลง กลไกขับเคลื่อนกระเช้าจะใช้ชุดเฟืองทดร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า
  4. กระเช้ากอนโดลา gondola elevated work platform ต้นกำลังอาจเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าหรือเครื่องยนต์สันดาปภายใน ทำงานร่วมกับชุดเฟืองทดก็ได้ กระเช้าสามารถทำงานตั้งแต่ ๒ ถึง ๘ ทิศทางขึ้นอยู่กับประเภทและออฟชั่น ซึ่งในลำดับนี้จะกล่าวถึงและอธิบายโดยละเอียด
 
แบบที่ ๑ : กระเช้ากอนโดลาแบบน้ำหนักถ่วงหรือแบบแขวน 
 
กระเช้ากอนโดลาแบบน้ำหนักถ่วง เป็นกอนโดลาแบบพื้นฐาน มีกลไกเคลื่อนที่น้อย ตัวกระเช้าเคลื่อนที่ได้เพียงสองทิศทางคือขึ้นกับลง เครื่องจักรแบบนี้มีสามส่วนประกอบหลักคือโครงแขวนกระเช้า สลิงเหล็ก ฮอยท์ (กว้าน) และกระเช้า 
 
 

ส่วนประกอบ general layout

ส่วนประกอบที่หนึ่ง โครงสร้างแขวนกระเช้า 
 
  • โครงสร้างสำหรับแขวนกระเช้า (suspension mechanism) จะติดตั้งแบบชั่วคราวไว้บนดาดฟ้าของอาคาร บนเพลทฟอร์มหรืออื่นใดที่มีลักษณะคล้ายกัน ที่ติดตั้งต้องเป็นพื้นราบแข็งแรง ไม่ทรุด ไม่ยุบตัว หน้าที่ของโครงสร้างคือแขวนห้อยกระเช้าและอุปกรณ์ส่วนควบของกระเช้าทั้งหมด
โครงสร้างทำจากเหล็กขึ้นรูปเหลียม เพื่อให้ขนย้ายขึ้นไปติดตั้งบนที่สูงได้ง่ายและสะดวก จึงสร้างเป็นชิ้นย่อยๆ เป้าหมายคือชิ้นงานควรมีน้ำหนักเบา สามารถยกเคลื่อนย้ายได้ด้วยคนเพียงคนเดียว แต่ละชิ้นจึงควรมีน้ำหนักไม่เกิน ๒๕ กิโลกรัม หากมีความจำเป็น อาจจะมากกว่านี้ก็ได้ แต่ต้องยกเคลื่อนย้ายได้ไม่เกินสองคน อย่างไรก็ตาม การออกแบบไม่แนะนำให้แต่ละชิ้นมีน้ำหนักเกิน ๒๕ กิโลกรัม ความสามารถการใช้งานกระเช้า เป็นไปตามทฤษฎีของคาน ทั้งนี้ต้องมีค่าพิกัดเผื่อความปลอดภัยของโหลดด้าน outboard ไม่ต่ำกว่า ๓.๕ เท่า การประยุกต์ใช้กับงานกระเช้าไฟฟ้ากอนโดลา จึงหมายถึงผลคูณโหลดกับระยะทางตั้งฉากกับจุดหมุนด้าน inboard ต้องมากกว่าผลคูณโหลดกับระยะทางตั้งฉากกับจุดหมุนด้าน outboard ไม่น้อยกว่า ๓.๕ เท่านั่นเอง
โครงสร้าง (suspension stand) เป็นลักษณะคานยาว เชื่อมประกอบแยกเป็นส่วนย่อยๆ และนำส่วนย่อยๆ นี้มาประกอบเข้าด้วยกันด้วยวิธียึดโบลท์
 
 

โหลดของกอนโดลาเกิดจากสามส่วน คือหนึ่งโหลดที่เกิดจากน้ำหนักของกอนโดลาเอง สองคือโหลดที่เกิดจากน้ำหนักบรรทุกและสามคือโหลดที่เกิดจากสภาพแวดล้อมในพื้นที่ทำงาน ตัวอย่างเช่นแรงปะทะลมหรือ wind load เป็นต้น (dead load, live load and environmental load) ทว่ากอนโดลามีลักษณะทางกายภาพเป็นโครงสร้างโปร่งหรือพื้นที่ปะทะลมน้อย การคำนวณความสามารถใช้งาน capacity CAP. จึงไม่ต้องนำแรงปะทะลมมาคิดคำนวณ  
 
  • น้ำหนักถ่วง (counter weights) หลักการสร้างก้อนน้ำหนักถ่วงคือสร้างจากวัสดุคงรูป คงทนไม่เสื่อมสภาพหรือเสื่อมสภาพช้า เมื่อนำมาซ้อนชั้น ผิวต้องหยาบไม่ลื่น (rough surface and anti-friction loss) น้ำหนักมาตรฐาน ๒๕ กิโลกรัมต่อก้อน จากเงื่อนไขดังกล่าว จึงนิยมสร้างจากเหล็กหล่อ ผิวหยาบและมีสองหูหิ้ว
ก้อนน้ำหนักถ่วงจะถูกยึดเข้ากับขาของโครงสร้างแขวนกระเช้าด้าน inboard การยึดเกาะเข้าด้วยกัน ต้องมีมาตรการไม่ให้เคลื่อนหลุดออกจากกัน โดยปกติจะคล้องไว้ด้วยสลิงและล็อคติดด้วยคลิ๊ปอานม้า (single saddle clip)
 
 

ส่วนประกอบที่สอง สลิงเหล็ก (wire rope) 
 
สลิงเหล็กคือมัดของเส้นลวดโลหะที่บิดเกลียวตีพันรอบแกนกลาง สลิงเหล็กถูกพัฒนาขึ้นเพื่อทดแทนและลดอุบัติเหตุจากการใช้โซ่เหล็ก เนื่องจากการใช้โซ่เหล็กจะพบปัญหาการขาดที่ตำแหน่งข้อโซ่สัมผัส (bearing surface) หลังทดลองใช้สลิงเหล็กและเก็บข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ ไม่พบปัญหาดังกล่าวกับสลิงเหล็ก ทั้งนี้เนื่องจากโครงสร้างของ สลิงเหล็ก เส้นลวดจะไม่ขาดพร้อมกันในคราวเดียว ฉะนั้นเส้นลวดที่ยังไม่ขาดจะรับโหลดทดแทนได้ จึงไม่เกิดอุบัติเหตุ แต่เดิมลวดเหล็กที่ใช้ผลิตสลิงจะเป็นเหล็กคาร์บอนต่ำ (wrought iron) ปัจจุบันได้พัฒนามาใช้ลวดเหล็กที่ผลิตมาจากเหล็กกล้าแทน 
 
  • โครงสร้างของสลิงและทิศทางการตีเกลียว wire rope structure : เส้นลวดเหล็กกล้าตีเกลียวเข้าด้วยกันเรียกว่ากลุ่มเกลียว นำกลุ่มเกลียวมาตีเกลียวรอบแกนกลางจะได้สลิง (เส้นลวด wire, กลุ่มเกลียว strand, สลิงเหล็ก wire rope, แกนกลาง core) การตีเกลียวสลิงจะมีสองแบบคือ lang lay และ regular lay
 
 
 
การตีเกลียวสลิงมีสองแบบ-lang lay คือการตีเกลียวทิศทางเดียวกันระหว่างกลุ่มเกลียวกับการตีเกลียวเข้าเป็นเส้นสลิง, สลิงแลงเลย์เกลียวขวา (right lang lay) คือสลิงที่ตีเกลียวขวาเข้าเป็นกลุ่มเกลียว และตีเกลียวขวาเข้าเป็นเส้นสลิง ส่วนสลิงแลงเลย์เกลียวซ้าย (left lang lay) การตีเกลียวก็จะเป็นลักษณะตรงกันข้าม หมายความว่าตีเกลียวซ้ายเข้าเป็นกลุ่มเกลียว และตีเกลียวซ้ายเข้าเป็นเส้นสลิงด้วย เมื่อใช้งานจะอ่อนตัวได้ดี
regular lay ทิศทางการตีเกลียวจะสวนทางกันระหว่างกลุ่มเกลียวกับการตีเกลียวเข้าเป็นเส้นสลิง, สลิงเรกกูลาร์เกลียวขวา (right regular lay) คือสลิงที่ตีเกลียวซ้ายเข้าเป็นกลุ่มเกลียว และตีเกลียวขวาเข้าเป็นเส้นสลิง ส่วนสลิงเรกกูลาร์เลย์เกลียวซ้าย (left regular lay) การตีเกลียวก็จะเป็นลักษณะตรงกันข้าม หมายความว่าตีเกลียวขวาเข้าเป็นกลุ่มเกลียว และตีเกลียวซ้ายเข้าเป็นเส้นสลิง เมื่อใช้งานจะคงสภาพได้ดี

  • แกนกลางของสลิงมีสามแบบ ซึ่งมีคุณสมบัติดังนี้
Fiber Core-FC แกนกลางเส้นใยสังเคราะห์ ในระยะเริ่มแรกแกนกลางเคยผลิตจากวัสดุที่เป็นเชือกธรรมชาติด้วย คุณสมบัติของแกนกลางชนิดนี้มีความยืดหยุ่นสูง ไม่ดูดซับความชื้น ทนต่อการกัดกร่อนได้ดี ทนกรดและทนกรดอ่อนและด่างอ่อนได้ สลิงแกนกลางเส้นใยสังเคราะห์เมื่อนำมาใช้งานจะอ่อนตัวได้ดี
Wire Stand Core-WSE แกนกลางเส้นลวดตีกลุ่มเกลียว ความยืดหยุ่นน้อยกว่าลวดสลิงแกนกลางเส้นใยสังเคราะห์แต่มากกว่าสลิงแกนกลางเหล็กลวดเส้นเดียว ทนอุณหภูมิได้มากกว่าลวดสลิงแกนกลางเส้นใยสังเคราะห์ น้อยกว่าสลิงแกนกลางเหล็กลวดเส้นเดียว ความทนทานต่อการกระแทก การบีบอัดมากกว่าได้มากกว่าลวดสลิงแกนกลางเส้นใยสังเคราะห์แต่น้อยกว่าสลิงแกนกลางเหล็กลวดเส้นเดียว
Independent Wire Rope Core-IWRC แกนกลางเหล็กลวดเส้นเดียว (independent wire rope core IWRC) ทนอุณหภูมิได้มากกว่าลวดสลิงแกนกลางเส้นใยสังเคราะห์ มีความทนทานต่อการกระแทก การบีบอัด คงสภาพเสียรูปยาก แต่ความยืดหยุ่นน้อยกว่าลวดสลิงแกนกลางเส้นใยสังเคราะห์

  • การตรวจสภาพ wire rope inspections : การตรวจสภาพสลิงแบ่งออกเป็นสองลักษณะ ดังที่กล่าวถึงแล้วข้างต้นคือตรวจตามระยะเวลา (inspection interval) และการตรวจสภาพก่อนใช้งานโดยผู้ใช้ (daily inspection) การตรวจสภาพตามระยะเวลาเป็นการตรวจสภาพแบบละเอียดจะใช้วิธีตรวจด้วยสายตา (visual inspections) ได้เป็นบางรายการเท่านั้น ฉะนั้นในบางหัวข้องานต้องใช้เครื่องมือร่วมด้วยเช่น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง กว้าง ยาว การคอดกิ่ว การเสียรูป ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งในเชิงปฏิบัติการ จะมีทีมเป็นผู้ร่วมทำงานและวิศวกรจะเป็นผู้ลงนามรับรองสภาพอุปกรณ์ฯ ส่วนการตรวจสภาพก่อนใช้งานประจำวันโดยผู้ใช้จะตรวจสภาพด้วยสายตาเท่านั้น เอกสารส่วนนี้จะเน้นให้คำแนะนำสำหรับการตรวจสภาพก่อนใช้งานประจำวัน ตามรายละเอียดดังนี้
 
    • broken wire เส้นลวดในหนึ่งช่วงเกลียวขาดสามเส้นขึ้นไปในกลุ่มเกลียวเดียวกัน หรือขาดหกเส้นขึ้นไปในหลายกลุ่มเกลียวรวมกัน
    • worn or abraded wire ลวดเส้นนอกสึกหนึ่งในสามของเส้นผ่าศูนย์กลาง
    • wire rope reduce diameter เส้นผ่าศูนย์กลางของสลิงมีขนาดลดลงจากเดิม ๕ เปอร์เซ็นต์
      bird caging ถูกบดกระแทกแตกเกลียว
    • core protrusion (shock loading) ช็อคโหลดทำให้ สลิงแตก มองเห็นแกนกลางหรือแกนกลางโผล่
    • corrosion โดนสารเคมีกัดกร่อน ตรวจสอบตรวจสภาพภายในสลิงไม่ได้ สำหรับภายนอกอาจเกิดสนิมหรือเป็นรอยตามดปรากฏให้เห็น
    • cuts or burn โดนบาดจากโลหะขอบคม โดนความร้อนหรือเปลวไฟ สลิงแกนกลางไฟเบอร์ (fiber core) ต้องไม่โดนอุณหภูมิสูงถึง ๙๓ °C
    • kinks หงิกงอหรือขมวดปม
 
  • วิธียึดโยงสลิงด้วยคลิ๊ปอานม้า single saddle clip (ลำดับนี้ต้องดูภาพประกอบ) ความสามารถในการรับแรงดึงของการยึดโยงสลิงด้วยวิธีนี้ เกิดจากความฝืดระหว่างผิวสลิงกับผิวสลิงที่พับทบให้สัมผัสกัน ส่วนความฝืดระหว่างผิวสลิงกับผิวของคลิ๊ปอานม้า ซึ่งมีผิวสัมผัสน้อยเกิดแรงต้านการลื่น (anti of friction loss) เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงเป็นแค่ผลพลอยได้ หมายความว่าเป้าหมายหลักคือให้เกิดความฝืดระหว่างคู่สลิงที่สัมผัสกัน วิศวกรรมความปลอดภัยจึงกำหนดให้มี parameter ในการใช้คลิ๊ป อานม้าดังต่อไปนี้
 

ความหมายศัพท์ตามตารางและความหมายของอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับค่าในตาราง

  • size-inch หมายความว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของสลิง แสดงหน่วยเป็นนิ้ว
  • แรงขันกวดคลิ๊ปอานม้า หากใช้ประแจปอนด์ก็จะปรับตั้งค่าได้ หากไม่มีฯ ก็ให้ใช้ประแจแหวนขันให้ตึงและใช้น้ำหนักร่างกายดึงโยกขันแน่นเข้าไปอีกประมาณห้าองศา ข้อระวังคือขันกวดไม่แน่นก็จะลื่นรูด หากขันแน่เกินไป ไส้สลิงก็จะแตก ก็จะลื่นรูดเช่นเดียวกัน
  • Thimble ปลอกรับห่วงสลิง เมื่อต้องการพับทบสลิงให้ใช้ปลอกรับห่วงสลิงทุกครั้ง และขนาดของปลอกสลิงต้องตรงกับขนาดของสลิง
  • turn back length ระยะพับทบทำห่วงสลิง ตามตารางแสดงค่าหน่วยเป็นนิ้ว หมายถึงระยะตั้งแต่ห่วงสลิงโค้งนอกถึงปลายสุดของสลิงที่ตวัดพับทบเข้ามา
  • ระยะห่างคลิ๊ปอานม้า ให้คำนวณจากเส้นผ่าศูนย์กลางของสลิงคูณด้วยหก
  • การหันหัวน๊อตคลิ๊ปอานม้า ต้องหันทางเดียวกันฝั่งตรงกันข้ามกับหางสลิง
  • number of clips จำนวนคลิ๊ปอานม้าที่ใช้ ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดสลิง
ตัวอย่างใช้คลิ๊ปอานม้ากับสลิงครึ่งนิ้ว ต้องมีองค์ประกอบ (parameter) คือระยะพับทบ ๑๑.๕ นิ้ว ใช้คลิ๊ปสามตัว แรงขันกวด ๖๕ ฟุต-ปอนด์ ฯลฯ เป็นต้น /อ่านข้อมูลต่อในตอนที่สอง คลิ๊กตรงนี้ หรือคลิ๊กด้านล่าง

กลับหน้าแรก : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู วิศวกรรมความปลอดภัย กระเช้ากอนโดลา ตอนที่สอง : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู วิศวกรรมความปลอดภัย กระเช้ากอนโดลา ตอนที่สาม : รอลงข้อมูล
  
MENU
 
WEB LINK
 
VISIT
 สถิติวันนี้ 97 คน
 สถิติเมื่อวาน 88 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
2521 คน
45863 คน
927915 คน
เริ่มเมื่อ 2012-10-14
 
Copyright (c) 2006 by Ronnarong