Sangtakieng.com
Job Safety Analysis การวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย
ส่วนที่ ๑ : ความทั่วไปเกี่ยวกับการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย
งานเขียนและนำเสนอ : รณรงค์ แสงตะเกียง ronnarong sangtakieng

การบาดเจ็บและอุบัติเหตุ มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับงานที่จะทำ ฉะนั้นการคิดถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดฯ โดยใช้หลักเกณฑ์และวิธีการที่เหมาะสม เพื่อหามาตรการควบคุมป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ จึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำงานอย่างปลอดภัย และวิธีการที่ใช้แพร่หลาย ใช้งานได้จริงและมีประสิทธิภาพนี้เราเรียกว่า การวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัยหรือ JSA-job safety analysis โดย JSA จัดเป็นเทคนิคพื้นฐานของการชี้บ่งและระบุอันตราย และเป็นที่มาของประเมินความเสี่ยงประเภทต่างๆ อีกด้วย

จากสถิติด้านความปลอดภัย นับแต่ห้วงเวลาที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน มีผู้ปฏิบัติงานจำนวนไม่น้อยที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน ผลที่ตามมา (consequence) อาจแค่บาดเจ็บ พิการหรือบางรายก็ร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ใช่ความพึงประสงค์ ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนใกล้ชิด จึงถือเป็นความรับผิดชอบแรกของนายจ้างหรือเจ้าของกิจการ ที่ต้องมีจิตสำนึกและใส่ใจด้านความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของคนทำงาน การมุ่งหวังที่จะเอาผลกำไรจากงานประกอบการไม่ใช่เรื่องแปลก หากแต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมที่อาจเป็นอันตรายกับผู้ปฏิบัติงานด้วย หรือจะให้มองในองค์รวม ต้องป้องกันควบคุมอุบัติเหตุ ไม่ให้ส่งผลกระทบกับ พี-แพ็ค (P-PEC, P=people คนได้รับอันตราย, P=properties damage ทรัพย์สินเสียหาย, E=environment เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและ C=communities ผลกระทบที่เกิดกับชุมชน)

นอกจากผลกระทบ ๔ ด้านดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีผลเสียแฝงอื่นๆ ที่มองเห็นยากลำบากตามมาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าชดเชย การเสียเวลาเนื่องจากงานต้องหยุดชะงัก การถูกสอบสวน เสียชื่อเสียงและโอกาสในการแข่งขัน รวมไปถึงความเชื่อมั่นและขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานด้วย ฯลฯ

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการหรือตัวแทนของผู้ประกอบการ จะต้องวางแผนงานด้านความปลอดภัย เพื่อควบคุมป้องกันอันตรายในเชิงรุก ทั้งยังสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปฏิบัติงานอีกทางหนึ่งด้วย สำหรับการวิเคราะห์อันตรายในงานนั้น เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของแผนงานฯ ทว่าเป็นส่วนที่สำคัญและจะขาดเสียไม่ได้ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นปัจจัยพื้นฐานทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม (industrial hygiene) และเกี่ยวข้องแบบตรงๆ กับความปลอดภัยในสถานที่ทำงานนั่นเอง

การวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย (Job Safety Analysis-JSA)

หมายถึงกระบวนการหรือเทคนิคเชิงรุกที่จะศึกษากระบวนการทำงานเป็นลำดับขั้นก่อน-หลัง (works tasks) เพื่อที่จะค้นหาหรือแจกแจงอันตราย (identification) ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น โดยมองถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้ปฏิบัติงาน-ระบบปฏิบัติงาน-เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องมือกล วัสดุ วัตถุดิบ ฯลฯ และสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีในสถานที่ทำงาน หลังจากแจกแจงอันตรายต่างๆ ได้แล้ว ก็ให้นำไปประเมิน พิจารณาแก้ไขหรือกำหนดมาตรการที่เหมาะสม เพียงพอในการขจัด ลด ป้องกันหรือควบคุมอันตรายเหล่านั้น ทั้งนี้ต้องให้มีความเสี่ยง (risks) น้อยที่สุดหรืออยู่ในระดับที่ยอมรับได้

ทำไมต้องวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย

  • เป้าหมายสูงสุดคือควบคุมป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงาน
  • ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วม รับทราบ เข้าใจและตระหนักถึงอันตรายที่มีอยู่หรือแฝงอยู่ในงานที่ทำ ส่งผลให้ลดพฤติกรรมเสี่ยง ยอมรับและปฏิบัติตามได้อย่างปลอดภัย
  • พัฒนาการสื่อสาร ทัศนคติและความร่วมมือในการทำงานระหว่างหัวหน้างานและผู้ปฏิบัติงาน
  • ใช้เป็นข้อมูลช่วยในการปฐมนิเทศหรือฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงเป็นแนวทางสำหรับการทำงานที่ไม่ใช่งานประจำ (infrequent jobs) เพื่อให้เกิดความปลอดภัย
  • ใช้เป็นฐานข้อมูลที่ช่วยในการตรวจสอบ (inspections) หรือสังเกตการณ์ (observations) รวมถึงการสืบสวนเหตุการณ์ (incident investigations) หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น
  • พัฒนาระบบงานให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ อันเนื่องมาจากการขาดงาน การจ่ายเงินค่าทดแทน ลดค่าเสียหายของทรัพย์สินและเวลา รวมถึงการเพิ่มผลผลิตได้อีกด้วย
  • สามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนฯ และเตรียมพร้อมที่จะดำเนินการสำหรับงาน โครงการที่กำหนดขึ้นมา

ขั้นตอนการวิเคราะห์อันตรายในงาน

  1. ระบุขอบเขตของงานที่จะปฏิบัติ
  2. นำขอบเขตของงานที่จะปฏิบัติ มาแบ่งเป็นขั้นตอนหลักและนำขั้นตอนหลักมาแบ่งเป็นขั้นตอนย่อยๆ (work break-down)
  3. ชี้บ่งและระบุอันตรายที่แฝงอยู่ในแต่ละขั้นตอนย่อยๆ และกำหนดมาตรการควบคุมอันตรายหรือปรับปรุงแก้ไข
  4. เขียนคู่มือมาตรฐานการทำงานหรือคู่มือคำแนะนำ (SSOP=safety standard operating procedure or WI=work instruction) ซึ่งประมวลได้จากการวิเคราะห์อันตรายในงาน
  5. นำไปปฏิบัติ
  6. ประเมินประสิทธิภาพและทบทวนแก้ไข
  7. ตรวจสอบ ทวนสอบก่อนและหลังการนำเอกสารคู่มือคำแนะนำไปใช้งาน

การวิเคราะห์อันตรายในงานที่มีประสิทธิภาพนั้น ผู้บริหารต้องมีพันธะสัญญา (commitment) ที่ชัดเจน เพื่อแสดงให้เห็นว่าตระหนักและให้ความสำคัญกับความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมการทำงานของพนักงาน ทั้งนี้โดยมีเจตนาในการควบคุมและป้องกันอันตรายทุกประเภท อันตรายทุกประเภท-ที่กล่าวถึง ณ ที่นี้คืออันตรายที่ได้จากการวิเคราะห์อันตรายในงานและผู้บริหารต้องพร้อมที่จะสนับสนุนบุคคลากร เวลา ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการปรับปรุงงาน เพื่อให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

หากทำวิเคราะห์อันตรายในงานและไม่นำไปใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพ ก็จะเป็นเพียงแค่วิธีแสดงออก (actions) ที่องค์กรขาดความน่าเชื่อถือในระยะกลางและระยะยาว อันจะเกิดผลเสียให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซากโดยไม่ทราบข้อเท็จจริงและเป็นอุปสรรค์ของงานด้านความปลอดภัยอย่างมาก

ส่วนที่ ๒ ขั้นตอนการวิเคราะห์อันตรายในงาน : อ่านต่อคลิ๊กตรงนี้

กลับหน้าแรก : คลิ๊กตรงนี้

 

  
MENU
 
WEB LINK
 
VISIT
 สถิติวันนี้ 65 คน
 สถิติเมื่อวาน 145 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
6322 คน
21444 คน
963410 คน
เริ่มเมื่อ 2012-10-14
 
Copyright (c) 2006 by Ronnarong