Sangtakieng.com
ศิลปป้องกันตัวแบบฉบับมวยไชยา
รวบรวม เรียบเรียง : รณรงค์ แสงตะเกียง

มวยไชยาเป็นศิลปะป้องกันตัวประจำถิ่น มีชื่อเสียงมากครั้งสมัยรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ จนมีนักมวยจากไชยาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นมวยมีชื่อ มวยไชยาเริ่มมีระเบียบแบบแผนชัดเจนที่ตำบลพุมเรียง โดยนายมาชาวกรุงเทพฯ มาบวชที่วัดทุ่งจับช้าง และสอนวิชามวยให้แก่ผู้ที่สนใจ ต่อมาพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) เจ้าเมืองไชยาในเวลานั้นพาลูกศิษย์ขึ้นไปชกมวยหน้าพระที่นั่ง จนนายปล่อง จำนงทองได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นมวยมีชื่อ นอกจากนี้พระยาวจีฯ จัดให้มีการแข่งขันมวยในงานสมโภชพระบรมธาตุไชยาทุกปี บุตรธิดาของพระยาวจีฯ เช่น ชื่น ศรียาภัย เป็นผู้ส่งนักมวยจากไชยาขึ้นมาชกในกรุงเทพฯ จนเป็นที่รู้จัก

                 ศิลปป้องกันตัวแบบฉบับมวยไชยา ทุ่ม-ทับ-จับ-หัก

เมื่อย้ายตัวเมืองไชยาจากตำบลพุมเรียงไปที่ตำบลตลาดไชยาดังในปัจจุบัน สถานที่ใหม่ที่ใช้จัดมวยคือสนามมวยเวทีพระบรมธาตุไชยา ในยุคนี้มีนักมวยเกิดขึ้นหลายคณะ แต่เมื่อเวทีมวยแห่งนี้สิ้นสุดลง วงการมวยไชยาก็เริ่มเสื่อมลง

กำเนิดมวยไชยา-มีวัดเก่าแก่อรัญญิกชื่อวัดทุ่งจับช้าง เป็นวัดรกร้างอยู่ในป่าริมทางด่านเดิมที่จะไปอำเภอไชยา วัดนี้มีชื่อเสียงเพราะสมภารซึ่งชาวบ้านเรียกว่า พ่อท่านมา เป็นชาวกรุงเทพฯ ได้หลบหนีไปอยู่เมืองไชยาด้วยเรื่องใดไม่ปรากฏ พ่อท่านมาได้ฝึกสอนวิชามวยไทยแก่ชาวไชยาจนขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองมวย แม้ทุกวันนี้นักมวยที่ปรารถนาความสวัสดีมีชัย ต้องร่ายรำมวยเป็นการถวายคารวะหน้าที่บรรจุศพก่อนที่จะผ่านไป เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเหตุผลควรสงสัยว่าทำไมมวยสุราษฎร์ฯหรือมวยไชยา จึงมีชื่อเสียงกระเดื่องดังตลอดมา
จากคำบอกเล่านั้นเริ่มต้นที่ พ่อท่านมา ไม่มีใครทราบว่าท่านมีชื่อจริงอย่างไร ทราบแต่เพียงว่าท่านเป็นครูมวยใหญ่จากพระนคร บ้างก็ว่าท่านเป็นขุนศึกแม่ทัพแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านได้เดินทางมาที่เมืองไชยา และได้ถ่ายทอดวิชาการต่อสู้ไว้ให้แก่ชาวเมือง ศิษย์ที่ทำให้ มวยเมืองไชยาเป็นที่รู้จักมากที่สุดในยุค รัชกาลที่ ๕ คือพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย)
ปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย เคยกล่าวไว้ว่าท่าย่างสามขุม ของหลวงวิศาลดรุณกร (อั้น สาริกบุตร) อาจารย์โรงเรียนสวนกุหลาบฯ พศ. ๒๔๖๔ (ซึ่งเป็นศิษย์เอกของปรมาจารย์ พระไชยโชคชกชนะ (อ้น) เจ้ากรมทนายเลือกครูมวยและครูกระบี่กระบองผู้กระเดื่องนาม ในสมัยรัชกาลที่ ๕) และปรมาจารย์ขุนยี่สานสรรพยากร (ครูแสงดาบ) ครูมวยและครูกระบี่กระบอง ลือชื่อในสมัยรัชกาลที่ ๖ นั้นมีความกระชับรัดกุม ตรงตามแบบท่าย่างสามขุมของท่านมาครูมวยแห่งเมืองไชยา ท่านนับเป็นต้นสายของมวยไชยา มรดกอันล้ำค่าของคนไทย

ศาลาเก้าห้อง-หลังจากที่กำเนิดมวยไชยาขึ้นแล้ว กิจการด้านนี้ก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับการชกมวยจึงเป็นกีฬาสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับเทศกาล งานฉลองหรือสมโภชต่างๆ และมาเจริญสูงสุดครั้งหนึ่งคือสมัยศาลาเก้าห้อง

ศาลาเก้าห้องนี้ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลพุมเรียง สร้างโดยพระยาวจีสัตยารักษ์ สร้างขึ้นเป็นสาธารณสมบัติศาลานี้สร้างขนานกับทางเดิน (ทางด่าน) มีเสาไม้ตำเสา ๓๐ ต้น เสาด้านหน้าเป็นเหลี่ยม แถวกลางและแถวหลังเป็นเสากลม ระหว่างเสาสองแถวหลังยกเป็นพื้นปูกระดานสูงจากพื้นประมาณหนึ่งเมตร ส่วนระหว่างแถวหน้ากับแถวกลางเป็นพื้นดิน ยาวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ประมาณ ๑๓ วา ๒ ศอก ส่วนกว้างประมาณ ๓ วา หลังคาลิลา มุงสังกะสี มีบ่อน้ำทางทิศตะวันตกหนึ่งบ่อ
ปัจจุบันศาลาเก้าห้องเดิมได้ถูกรื้อถอนโดยนายจอน ศรียาภัย ลูกคนที่สามของพระยาวจีสัตยารักษ์ เมื่อออกจากราชการกรมราชทัณฑ์และกลับไปอยู่บ้านเดิมที่ไชยา ยังคงเหลือไว้แต่เพียงบ่อน้ำซึ่งแต่เดิมกรุด้วยไม้กระดาน และต่อมาราษฎรได้ช่วยกันสละทรัพย์หล่อซีเมนต์เสร็จ เมื่อปี ๒๔๗๑ และสร้างศาลาใหม่ขึ้นที่ด้านตะวันออกของศาลาเดิมแต่มีขนาดเล็กกว่ายังคงมีอยู่กระทั่งปัจจุบัน
นอกจากจะใช้เป็นที่พักคนเดินทางแล้ว ศาลาเก้าห้องแห่งนี้ยังใช้เป็นที่สมโภชพระพุทธรูป เนื่องในงานแห่พระพุทธทางบกในเดือน ๑๑ ของทุกปีประจำเมืองไชยาอีกด้วย และในงานแห่พระพุทธรูปทางบกและงานสมโภชนี้ ที่ขาดไม่ได้คือการชกมวยเป็นการสมโภชเป็นประจำทุกปีด้วย

การแต่งกายของนักมวย
การพันหมัด-ที่เรียกว่าหมัดถักนั้นเมื่อผู้ใดได้คู่ชก ทางฝ่ายจัดรายการ จะแจกด้ายขนาดโตคนละม้วน เมื่อได้ด้ายดิบแล้วนักมวยก็จะนำด้ายดิบนั้นเข้าพุ่มไปให้พรรคพวกช่วยกันจับเป็นจับๆ (หนึ่งจับเล็กกว่าปลายนิ้วก้อยเล็กน้อย) แล้วตัดออกเป็นท่อนๆยาวประมาณ ๔ ถึง ๕ เมตร ชั้นแรกที่จะพันมือจะใช้ผ้าเรียบพันมือก่อน ชั้นที่สองซึ่งจะพันด้วยด้ายดิบซึ่งพรรคพวกจะขวั้นเป็นเกลียวจนเกิดเป็นปมอยู่ทั่วไป แล้วพันด้วยผ้าเรียบ แล้วพันด้วยด้ายที่ถูขวั้นเป็นเกลียวจนเกิดปม พันสลับกันเช่นนี้หลายชั้น การพันมือจะพันจนถึงข้อมือเท่านั้นส่วนปลายนิ้วมือจะพันขึ้นไปพอถึงข้อนิ้วแรก ให้กำหมัดได้สะดวกและขณะที่พันมืออยู่นั้น จะต้องใช้ปลายนิ้วมือคอยแหย่ไว้ตามช่องนิ้วมือระวังไม่ให้แน่นจนเกินไป เพราะถ้าแน่นจะทำให้กำหมัดไม่แน่นเวลาชก ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายถึงนิ้วมือหักในขณะต่อสู้เมื่อชกโดนคู่ต่อสู้จังๆ โดยนักมวยไชยา จะคาดเชือกแค่บริเวณข้อมือ ส่วนนักมวยสายอื่นๆ เช่นนักมวยโคราช จะคาดเชือกถึงบริเวณข้อศอกเพื่อใช้รับอวัยวะต่างๆ ของคู่ต่อสู้และนักมวยสายลพบุรีหรือนักมวยภาคกลางอื่นๆ เช่นมวยพระนครจะคาดเชือกถึงบริเวณกลางแขน

การพันลูกโปะ (กระจับ)-ในการพันลูกโปะจะใช้ผ้าสองผืน ผืนแรกจะใช้ผ้าขาวม้าก็ได้ หรือผ้าชนิดอื่นที่ยาวพอสมควร ผืนที่สองจะใช้ผ้าอะไรก็ได้ วิธีพันจะใช้ผ้าผืนแรกต่างเข็มขัด ปล่อยชายข้างหนึ่งยาวปลายข้างหนึ่งจะผูกเป็นปมหมดชายผ้า ปล่อยข้างยาวลงไปข้างล่าง ส่วนผืนที่สองจะม้วนเป็นก้อนกลม (คล้ายม้วนทูนหรือผ้าที่ม้วนรองบนศีรษะขณะทูนของที่ก้นไม่เรียบ) ใช้ผ้าผืนนี้วางลงทับแทนกระจับ ใช้ชายผ้าที่ปล่อยให้ห้อยลงของผืนแรกคาดทับลงไป แล้วเต้าชายผ้าส่วนนั้นเข้าระหว่างขาดึงให้ตึงไปผูกชายที่เหลือเข้ากับส่วนที่ผูกแทนเข็มขัดที่ด้านหลัง

ประเจียด-เป็นเครื่องสวมศีรษะลักษณะเฉพาะของนักมวยไชยา ส่วนนักมวยภาคอื่นจะสวม-มงคล-แทน ประเจียดนั้นจะทำเป็นลักษณะแบนๆ มากกว่าทำให้กลมมีการลงคาถาอาคม ลงเครื่องป้องกันต่างๆ ขณะชกถ้าประเจียดหลุดก็ยกมือขอเก็บมาสวมเสียใหม่ได้ วัตถุประสงค์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือการป้องกันมิให้เส้นผมลงปิดหน้าในขณะที่กำลังทำการต่อสู้

กติกา-ในการต่อสู้ใช้แม่ไม้มวยไทยได้ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็น หมัด เท้า เข่า ศอก ต่อสู้กัน ๕ ยก และใช้ยกเวียน หมายความว่าวันนั้นจับมวยได้กี่คู่ (ส่วนใหญ่ ๕ ถึง ๖ คู่) ก็จะชกกันคู่ละหนึ่งยก โดยคู่ที่ ๑ ชกยกที่ ๑ ก็เข้าพุ่ม (ที่สำหรับพักนักมวย) คู่ที่ ๒ ขึ้นชกยกที่ ๑ และยกที่ ๑ จนไปถึงคู่สุดท้าย คู่ที่ ๑ จึงจะชกยกที่ ๒ แล้วเวียนไปเรื่อยเช่นนี้จนครบ ๕ ยก แต่ถ้ามีคู่ใดแพ้ชนะก่อนกันก็ตัดคู่นั้นไป ส่วนที่เหลือก็จะเวียนไปดังที่กล่าวมาแล้ว กติกาการหมดยกมีสองแบบคือ

แบบที่ ๑ เมื่อมีฝ่ายใดเพลี่ยงพล้ำ ไม่สามารถป้องกันตัวได้ ก็ยกมือขอบอกเวลาหมดยก เพื่อเข้าพุ่มแก้ไขอาการที่เพลี่ยงพล้ำนั้น และคำว่า-ยก-ที่ใช้กันในทุกวันนี้ก็น่าจะมีความเป็นมาจากอาการที่ยกมือดังกล่าวแล้วก็อาจเป็นได้
แบบที่ ๒ ในขณะชกเขาจะใช้ลูกลอยเจาะก้นลอยน้ำแบบที่ใช้ในการชนไก่แต่เดิม เมื่อลูกลอยจมน้ำเจ้าหน้าที่ก็จะตีกลองบอกหมดยก เพื่อให้คู่ต่อสู้ได้เข้าพุ่มเพื่อแก้ไข ให้น้ำและแนะนำการแก้ลูกไม้มวยส่วนคู่ต่อไปก็จะขึ้นชกกันต่อไป
สำหรับดนตรีที่ใช้มีปี่และกลองยาวประโคมก่อนและขณะทำการต่อสู้

ทุ่ม ทับ จับ หัก-ในมวยคาดเชือกนั้นเป็นกลมวยชั้นสูง ที่ผู้ฝึกจะต้องเรียนรู้พื้นฐาน การบริหารร่างกายเพื่อพาหุยุทธ์พร้อมฝึกฝน ท่าย่างสามขุมตามแบบของแต่ละครู เรียก-ท่าครู-รวมทั้งแม่ไม้ต่างๆ เช่นการออกอาวุธ ป้องปัดปิดเปิด ป้องกัน ตอบโต้ให้เชี่ยวชาญดีแล้ว จึงจะสามารถแตกแม่ไม้กล ลูกไม้ กลรับ กลรุก ล่อหลอก หลบหลีก ทั้งยังต้องฝึกซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้ใช้ออกไป จึงจะเกิดความคม เด็ดขาด รุนแรง ท่วงท่าลีลางดงาม เข้มแข็งดังใจ
ท่าย่างสามขุมคลุมแดนยักษ์ นั้นได้ชื่อว่ามีความรัดกุมเฉียบคม จนสามารถชนะการแข่งหน้าพระที่นั่งสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อคราวจัดให้มีงาน ณ ทุ่งพระเมรุ ป้อมเผด็จดัสกร กรุงเทพฯ คือนายปล่อง จำนงทอง ที่สามารถใช้-ท่าเสือลากหาง-โจนเข้าจับ ทุ่มทับจับหักปรปักษ์จนมีชัย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น-หมื่นมวยมีชื่อ

เวทีมวยวัดพระธาตุไชยา-เมื่อการชกมวยที่ศาลาเก้าห้องต้องมีอันล้มเลิก เนื่องมาจากศาลากลางถูกย้ายไปอยู่ที่บ้านดอน พระยาไชยาก็ไปเป็นเจ้าเมืองที่บ้านดอนดังที่กล่าวมาแล้ว ในตอนต้นรวมทั้งได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาไว้ที่อำเภอไชยาในปัจจุบันก็เกิดสนามมวยแห่งใหม่ขึ้นที่บริเวณสนามวัดพระบรมธาตุ เพราะวัดพระบรมธาตุมีงานประจำปีในเดือน ๖ ของทุกปี การจัดชกมวยก็เกิดขึ้นที่สนามแห่งนี้ด้วย โดยครั้งแรกชกบนลานดินเหมือนที่ศาลาเก้าห้อง ที่ตั้งสนามอยู่ระหว่างพระเวียนกับถนนที่ตัดผ่านหน้าวัด (ถนนที่ผ่านทุกวันนี้แต่สมัยนั้นยังไม่มีกำแพงแก้วเหมือนปัจจุบัน) การชกและกติกาก็เหมือนที่ศาลาเก้าห้องทุกประการ จะต่างกันที่สนามวัดพระบรมธาตุมีการเก็บเงิน โดยใช้ปีกเหยี่ยวซึ่งหมายถึงใบตาลโตนดผ่าซีกแล้วโน้มมาผูกติดกับก้านใบกั้นเป็นบริเวณสนาม และเนื่องจากกีฬามวยเป็นที่สนใจของประชาชนโดยทั่วไป พระครูโสภณเจตสิการา (เอี่ยม) เห็นว่ามีหนทางที่จะเก็บเงินเป็นรายได้บำรุงวัด จึงดำริคิดสร้างเวทีมวยถาวรขึ้นที่สนามมวยแห่งนี้ โดยให้นายภักดิ์ ลำดับวงค์ เป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง นายจอน แสงสิทธิ์ เป็นนายช่าง นายร่วง เชิงสมอ เป็นลูกมือช่าง และสร้างเสร็จในปี ๒๔๗๔ โดยท่านพระครูโสภณเจตสิการามเป็นผู้ออกค่าใช้ จ่ายทั้งสิ้น ประมาณ ๕๐๐ บาท (ห้าร้อยบาทสมัยนั้น)
เวทีแห่งใหม่นี้ใช้ทางเหนือของสถานที่เดิมไปเล็กน้อย โดยเลื่อนใกล้ถนนเข้าไปอีก ลักษณะของเวที เป็นเสาปูนซีเมนต์เสริมเหล็กหน้า ๘ นิ้ว จำนวน ๔ ต้นกว้างและยาวด้านละ ๔ วา เทคอนกรีตเท่าหน้าเสาทั้งสี่ด้าน สูงจากพื้นดินประมาณหนึ่งเมตร ตรงกลางถมดิน เสาสูงหกศอก หลังคามุงสังกะสี ไม้ที่ใช้เป็นไม้หลุมพอโดยตลอดเฉพาะเครื่องทำหลังคา

สมัยสิ้นสุด-หลังจากพ้นยุคแรก การชกก็มีการเปลี่ยนแปลงจนเข้ารูปแบบของปัจจุบันทุกประการ เมื่อสิ้นสมัยของพระครูโสภณเจตสิการาม (เอี่ยม) ท่านเจ้าคุณพุทธทาส (สมัยนั้น) ก็ให้ยกเลิกงานมหรสพและงานประจำปี คงรักษาไว้แต่พิธีทางศาสนา ต่อมามีผู้คิดเปลี่ยนสถานที่ชกและสถานที่จัดงานไปไว้ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอไชยา แต่จัดได้ไม่กี่ปีก็มีอันล้มเลิกไป
นักมวยฝีมือเอกของไทยที่เคยผ่านการชกที่เวทีแห่งนี้มีมากมาย เท่าที่พอจะได้รายชื่อก็มี จำเริญ ทรงกิตรัตน์, โกต๊อง แก้วอำไพ, กลยุทธ ลูกสุรินทร์, บุญธรรม แสงสุเทพ, ไสว แสงจันทร์, เชิด จุฑาเพชร

การรื้อถอนเวทีแห่งนี้-สาเหตุที่ต้องทำการรื้อถอนเวที ก็เพื่อที่จะเตรียมสถานที่เพื่อรับเสด็จ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในคราวยกพระสุวรรณฉัตรพระบรมธาตุไชยา เมื่อวันที่ กันยายน ๒๕๒๕ โดยรื้อถอนเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๒๔ ผู้ควบคุมการรื้อถอนได้แก่ นายนุกูล บุญรักษา ครูใหญ่โรงเรียนวัดพระบรมธาตุ ซึ่งอดีตเคยเป็นนักมวยฝีมือดีที่เคยผ่านการชกที่เวทีแห่งนี้มาก่อน ท่านบอกว่าเสียดายของเก่าแต่จำเป็นที่ต้องรื้อถอน

กลับหน้าแรก : คลิ๊กตรงนี้
กลับเมนูหลัก ท่องไชยทางโลก-ท่องสวนโมกข์ทางธรรม : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ท่องไชยาทางโลก : อ่านต่อคลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ท่องสวนโมกข์ทางธรรม : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู เด็กชายเงื่อม พานิชและเส้นทางสู่ธรรมสาวกของพุทธทาสภิกขุ : อ่านต่อคลิ๊กตรงนี้

 

  
MENU
 
WEB LINK
 
VISIT
 สถิติวันนี้ 80 คน
 สถิติเมื่อวาน 116 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
3657 คน
55803 คน
937855 คน
เริ่มเมื่อ 2012-10-14
 
Copyright (c) 2006 by Ronnarong