Sangtakieng.com
เด็กชายเงื่อม พานิชและเส้นทางสู่ธรรมสาวกของพุทธทาสภิกขุ
รวบรวม เรียบเรียง : รณรงค์ แสงตะเกียง

ท่านอาจารย์พุทธทาส มีนามเดิมว่าเงื่อม นามสกุล พานิช เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พศ. ๒๔๔๙ ในสกุลของพ่อค้าที่ตลาดพุมเรียง ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี บิดาชื่อเซี้ยง มารดาชื่อเคลื่อน มีน้องสองคนเป็นชายชื่อยี่เก้ยและเป็นหญิงชื่อกิมซ้อย บิดาของท่านมีเชื้อสายจีน ประกอบอาชีพหลักคือค้าขายของชำ เฉกเช่นที่ชาวจีนนิยมทำกันทั่วไป แต่อิทธิพลที่ท่านได้รับจากบิดากลับเป็นเรื่องของความสามารถทางด้านกวีและทางด้านช่างไม้ ซึ่งเป็นงานอดิเรกที่รักยิ่งของบิดา

ส่วนอิทธิพลที่ได้รับจากมารดา คือความสนใจในการศึกษาธรรมะอย่างลึกซึ้ง อุปนิสัยที่เน้นเรื่องความประหยัด เรื่องละเอียดลออในการใช้จ่ายและการทำทุกสิ่งให้ดีที่สุดและต้องทำ
ให้ดีกว่าครูเสมอ ท่านได้เรียนหนังสือเพียงแค่ชั้นมัธยม ๓ แล้วต้องออกมาค้าขายแทนบิดาซึ่งเสียชีวิต
ครั้นอายุครบ ๒๐ ปี ก็ได้บวชเป็นพระ ตามคตินิยมของชายไทยที่วัดโพธาราม ไชยา ได้รับฉายาว่า อินทปัญโญ แปลว่าผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่ เดิมท่านตั้งใจจะบวชเรียนตามประเพณี เพียงสามเดือน แต่ความสนใจ ความซาบซึ้งความรู้สึกเป็นสุขและสนุกในการศึกษาและเทศน์แสดงธรรม ทำให้ท่านไม่อยากสึก เล่ากันว่าเจ้าคณะอำเภอ เคยถามท่านขณะที่เป็นพระเงื่อมว่ามีความคิดเห็นอย่างไร ในการใช้ชีวิตท่านตอบว่า "ผมคิดว่าจะใช้ชีวิตให้เป็น
ประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ให้มากที่สุด-แต่ถ้ายี่เก้ยจะบวชผมก็ต้องสึกออกไป อยู่บ้านค้าขาย-ท่านเจ้าคณะอำเภอก็เลยไปคุยกับโยมแม่ของท่านว่า ท่านควรจะอยู่เป็นพระต่อไป ส่วนยี่เก้ย น้องชายของท่านนั้นไม่ต้องบวชก็ได้เพราะมีชีวิตเหมือนพระอยู่แล้ว คือเป็นคนมักน้อย สันโดษ การกินอยู่ก็เรียบง่าย ตัดผมสั้นเกรียนตลอดเวลา นายยี่เก้ยก็เลยไม่ได้บวช ให้พี่ชายบวชแทนมาตลอด

นายยี่เก้ย ต่อมาก็คือท่านธรรมทาส ฆราวาสผู้เป็นกำลังหลักของคณะธรรมทาน ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของสวนโมกขพลาราม

พระเงื่อมได้เดินทางมาศึกษาธรรมะต่อที่กรุงเทพฯ สอบได้นักธรรมเอกแล้วเรียนภาษาบาลีจนสอบได้เปรียญ ๓ ประโยค ระหว่างที่เรียนเปรียญธรรม ๔ อยู่นั้น ด้วยความที่ท่านเป็นคน
รักการศึกษาค้นคว้าจากพระไตรปิฎกและศึกษาค้นคว้าออกไปจากตำรา ถึงเรื่องการปฏิรูปพระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา อินเดีย และการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก ทำให้ท่านรู้สึกขัดแย้งกับวิธีการสอนธรรมะที่ยึดถือรูปแบบตามระเบียบแบบแผนมากเกินไป ความย่อหย่อนในพระวินัยของสงฆ์ ตลอดจนความเชื่อที่ผิดๆ ของพุทธศาสนิกชนในเวลานั้น ทำให้ท่านมีความเชื่อมั่นว่า พระพุทธศาสนาที่สอนที่ปฏิบัติกัน ในเวลานั้นคลาดเคลื่อนไปมากจากที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะ

ท่านจึงตัดสินใจ หันหลังให้กับการศึกษาของสงฆ์เวลานั้น กลับไชยาเพื่อศึกษาและทดลองปฏิบัติ ตามแนวทางที่ท่านเชื่อมั่นโดยร่วมกับนายธรรมทาสและคณะธรรมทาน จัดตั้งสถานปฏิบัติธรรม "สวนโมกขพลาราม" ขึ้นเมื่อปี พศ. ๒๔๗๕ จากนั้น ท่านได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมะอย่างเข้มข้น จนเชื่อมั่นว่าท่านมาไม่ผิดทางแน่และได้ประกาศใช้ชื่อนาม "พุทธทาส" เพื่อแสดงให้เห็นถึงอุดมคติสูงสุดในชีวิตของท่าน

อุดมคติที่หยั่งรากลึกลงแล้วนี้ ทำให้ท่านสนใจใฝ่หาความรู้ทางธรรมะตลอดเวลา ไม่เฉพาะแต่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทหรือหินยาน แต่ครอบคลุมไปถึงพระพุทธศาสนาแบบมหายานและศาสนาอื่น เช่นคริสต์ อิสลาม ฮินดู สิกข์ เป็นต้น จากความรอบรู้ที่กว้างขวาง และลึกซึ้งนี้เอง ทำให้ท่านสามารถประยุกต์วิธีการสอนและปฏิบัติธรรมะได้อย่างหลากหลาย ให้คนได้เลือกปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับพื้นความรู้และอุปนิสัยของตนได้ โดยไม่จำกัดชนชั้น
เชื้อชาติและศาสนา เพราะท่านเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนก็คือเพื่อน ร่วม เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น และหัวใจของทุกศาสนาก็เหมือนกันหมดคือ ต้องการให้คนพ้นจากความทุกข์
ท่านจึงได้ตั้งปณิธานในชีวิตไว้ ๓ ข้อ คือ
  • ๑.ให้พุทธศาสนิกชนหรือศาสนิกแห่งศาสนาใดก็ตามเข้าถึงความหมายอันลึกซึ้ง ที่สุดแห่งศาสนาของตน
  • ๒.ทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา
  • ๓.ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาเสียจากวัตถุนิยม

แม้ในความพยายามที่จะทำตามปณิธานนี้ จะทำให้บางคนไม่เข้าใจท่าน ไม่ชอบท่าน ด่าว่าท่าน หาว่าท่านจ้วงจาบพระพุทธศาสนา เป็นเดียรถีย์ เป็นคอมมิวนิสต์หรือรับจ้างคนคริสต์ มาทำลายล้างพระพุทธศาสนาก็ตาม แต่ท่านกลับรับฟังคำวิจารณ์เหล่านี้ด้วยใจเป็นกลาง ถือเป็นการแลกเปลี่ยนทางความคิด ในเรื่องเนื้อหาและหลักการมากกว่าที่จะก่อความขัดแย้งส่วนตัว เพราะท่านมีหลักในการทำงานว่า พุทธบุตรทุกคนไม่มีกังวลในการรักษาชื่อเสียง มีกังวลแต่การทำความบริสุทธิ์เท่านั้น เมื่อได้ทำความบริสุทธิ์ มองเห็นชัดเจนใจ อยู่แล้วว่านี่มันบริสุทธิ์เป็นธรรมแท้ ใครจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม เราต้องทำด้วยความพยายามอย่างสุดชีวิต จะมีชื่อเสียงหรือไม่นั้น อย่านึกถึงเลย เป็นอันขาด จะกลายเป็นเศร้าหมองและหลอกลวงไปไม่มากก็น้อย
ในที่สุด ท่านก็ได้รับการยอมรับจากวงการคณะสงฆ์ไทย วงการศึกษาของไทยและวงการศึกษาธรรมะของโลก ได้รับการยอมรับให้เป็นเสนาบดีแห่งกองทัพธรรมในยุคหลัง กึ่งพุทธกาล เยี่ยงพระมหากัสสปในครั้งพุทธกาล

สมณศักดิ์ที่ท่านได้รับ
  • ๑.เป็นพระครูอินทปัญญาจารย์ พศ. ๒๔๘๙
  • ๒.เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระอริยนันทมุนี พศ. ๒๔๙๓
  • ๓.เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราชชัยกวี พศ. ๒๕๐๐
  • ๔.เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพวิสุทธิเมธี พศ. ๒๕๑๔
  • ๕.เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมโกศาจารย์ พศ. ๒๕๒๐
แม้ท่านจะมีชื่อสมณศักดิ์ตามลำดับหลายชื่อ แต่ท่านจะใช้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นต้องติดต่อทางราชการเท่านั้น ถ้าเป็นเรื่องอื่นแล้วท่านจะใช้ชื่อว่า-พุทธทาส อินทปัญโญ-เสมอ แสดงให้เห็นถึงความอ่อนน้อมถ่อมตัวของท่าน ประการหนึ่งชื่อพุทธทาสนี้ เป็นที่มาแห่งอุดมคติของท่านนั่นเอง

ปริญญาทางโลกที่ท่านได้รับ
  • ๑.พุทธศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จาก มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พศ. ๒๕๒๒
  • ๒.อักษรศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาและศาสนาจาก มหาวิทยาลัย ศิลปากร พศ. ๒๕๒๘
  • ๓.ปรัชญา ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์จาก มหาวิทยาลัย รามคำแหง พศ. ๒๕๒๘
  • ๔.ศิลปศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาจาก มหาวิทยาลัย สงขลา นครินทร์ พศ. ๒๕๒๙
  • ๕.อักษรศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาจาก จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย พศ. ๒๕๓๐
  • ๖.การศึกษา ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์จาก มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ พศ. ๒๕๓๒
  • ๗.ศิลปศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จาก มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ พศ. ๒๕๓๖

ในระดับนานาชาติ ปัจจุบันทุกมหาวิทยาลัยที่มีแผนกสอนวิชาศาสนาสากลทั้งในยุโรป และ อเมริกาเหนือ ล้วนศึกษางานของท่าน หนังสือของท่านกว่า ๑๔๐ เล่ม ได้รับการแปลเป็น ภาษาอังกฤษกว่า ๑๕ เล่ม เป็นภาษาฝรั่งเศสและอีก ๘ เล่มเป็นภาษาเยอรมัน นอกจากนั้น ยังแปลเป็นภาษา จีน อินโดนีเซีย ลาว และตากาล็อคอีกด้วย กล่าวได้ว่าในประวัติศาสตร์ไทย ท่านอาจารย์พุทธทาส มีผลงานที่เป็นหนังสือแปลสู่ต่างประเทศมากที่สุด

จิรัฐติกาล จิตตวิสุทธิ : ภาพประกอบ (ขอขอบพระคุณจิตรกรนักบุญท่านนี้อย่างสูงสุดไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย)

ผลงานแห่งชีวิต
ตลอดชีวิตของท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านย้ำอยู่เสมอว่าธรรมะคือหน้าที่ เป็นการทำหน้าที่ เพื่อความอยู่รอด ทั้งทางฝ่ายกายและฝ่ายวิญญาณของมนุษย์และท่านได้ทำหน้าที่ในฐานะ ทาสผู้ซื่อสัตย์ของพระพุทธเจ้าทุกอณูแห่งลมหายใจเข้าออก จนแม้วาระสุดท้ายแห่งชีวิต จึงไม่น่าสงสัยเลยว่า ผลงานที่ท่านสร้างสรรค์ไว้เพื่อเป็นมรดกทางธรรมนั้น จะมีมากมายสักปานใด ซึ่งจะขอนำมากล่าวเฉพาะผลงานหลักๆ ดังนี้
  • การจัดตั้ง สถานปฏิบัติธรรมสวนโมกขพลารามและสวนโมกข์นานาชาติ
  • ๒.การร่วมกับคณะธรรมทาน ในการออกหนังสือพิมพ์-พุทธสาสนา-ราย ๓ เดือน นับเป็นหนังสือพิมพ์ทางพระพุทธศาสนา เล่มแรกของไทยเริ่มตีพิมพ์ เมื่อเดือน พฤษภาคม พศ. ๒๔๗๖ และต่อเนื่องมา จนถึงปัจจุบันเป็นเวลารวม ๖๑ ปี นับเป็นหนังสือพิมพ์ทางพระพุทธศาสนา ที่มีอายุยืนยาวที่สุดของไทย
  • ๓.การพิมพ์หนังสือชุด "ธรรมโฆษณ์" ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวม พิมพ์จากปาฐกถาธรรม ที่ท่านแสดงไว้ในวาระต่างๆ และงานหนังสือเล่มอื่นๆ ของท่าน โดยแบ่งออกเป็น ๕ หมวดคือ

๓.๑)  หมวด จากพระโอษฐ์ เป็นเรื่องที่ท่านค้นคว้าจากพระไตรปิฎกฉบับภาษา บาลีโดยตรง
๓.๒)  หมวด ปกรณ์พิเศษ เป็นคำอธิบายข้อธรรมะที่เป็นหลักวิชาและหลักปฏิบัติ
๓.๓)  หมวด ธรรมเทศนา เป็นคำบรรยายแบบเทศนาในเทศกาลต่างๆ
๓.๔)  หมวด ชุมนุมธรรมบรรยาย  เป็นคำขยายความข้อธรรมะ เพื่อให้เข้าใจได้อย่างถูกต้อง
๓.๕)  หมวด ปกิณกะ เป็นการอธิบายข้อธรรมะ เบ็ดเตล็ดต่างๆ ประกอบความเข้าใจ

ปัจจุบัน หนังสือชุดนี้ได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือขนาด ๘ หน้ายก หนาเล่มละประมาณ ๕๐๐ หน้า จำนวน ๖๑ เล่ม แล้วที่ยังรอการจัดพิมพ์ อีกประมาณร้อยเล่ม

  • การปาฐกถาธรรมของท่าน ที่ก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งในแง่วิธีการและการตีความพระพุทธศาสนาของท่าน กระตุ้นให้ผู้คนกลับมาสนใจธรรมะกันอย่างลึกซึ้งแพร่หลายมากขึ้น ครั้งสำคัญๆได้แก่ปาฐกถาธรรมเรื่อง ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม, อภิธรรมคืออะไร, ปฏิจจสมุปบาทคืออะไร, จิตว่างหรือสุญญตา, นิพพาน, การทำงาน คือการปฏิบัติธรรม, การศึกษาสุนัขหางด้วน เป็นต้น
  • ๕.งานประพันธ์ของท่านเองเช่น ตามรอยพระอรหันต์, ชุมนุมเรื่องสั้น, ชุมนุมเรื่องยาว, ชุมนุมข้อคิดอิสระ, บทประพันธ์ของสิริวยาส (เป็นนามปากกาที่ท่านใช้ในการเขียนกวีนิพนธ์) เป็นต้น
  • ๖.งานแปลจากภาษาอังกฤษของท่าน เล่มสำคัญคือสูตรของเว่ยหล่าง, คำสอนของฮวงโป ทั้งสองเล่มเป็นพระสูตรที่สำคัญของพุทธศาสนานิกายเซ็น เป็นต้น
เกี่ยวกับงานหนังสือนี้ ท่านเคยให้สัมภาษณ์กับพระประชา ปสนฺนธมฺโม ว่า-เราได้ทำสิ่งที่มันควรจะทำ ไม่เสียค่าข้าวสุกของผู้อื่นแล้ว เชื่อว่ามันคุ้มค่าอย่างน้อย ผมกล้าพูดได้อย่างหนึ่งว่าเดี๋ยวนี้ ไม่มีใครในประเทศไทย บ่นได้ว่าไม่มีหนังสือธรรมะอ่าน ก่อนนี้ได้ยินคนพูดจนติดปากว่า ไม่มีหนังสือธรรมะจะอ่าน เราก็ยังติดปาก ไม่มีหนังสือธรรมะจะอ่าน ตอนนี้บ่นไม่ได้อีกแล้ว

ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ละสังขาร กลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๖ สิริรวมอายุ ๘๗ ปี นับได้ ๖๗ พรรษา คงเหลือไว้แต่ผลงานที่ทรง คุณค่าแทนตัวท่าน ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้สืบสานปณิธานของท่าน รับมรดกความเป็น-พุทธทาส-เพื่อพุทธทาสจะได้ไม่ตายไปจากพระพุทธศาสนา ดังบทประพันธ์ของท่านที่ว่า

ท่านพุทธทาสจักอยู่ไปไม่มีตาย     แม้ร่างกายจะดับไปไม่ฟังเสียง
ร่างกายเป็นร่างกายไปไม่ลำเอียง     นั่นเป็นเพียงสิ่งเปลี่ยนไปในเวลา
พุทธทาสคงอยู่ไปไม่มีตาย     ถึงดีร้ายก็จะอยู่คู่ศาสนา
สมกับมอบกายใจรับใช้มา     ตามบัญชาองค์พระพุทธไม่หยุดเลย
 
พุทธทาสยังอยู่ไปไม่มีตาย     อยู่รับใช้เพื่อนมนุษย์ไม่หยุดเฉย
ด้วยธรรมโฆษณ์ตามที่วางไว้อย่างเคย     โอ้เพื่อนเอ๋ยมองเห็นไหมอะไรตายฯ
แม้ฉันตายกายลับไปหมดแล้ว     แต่เสียงสั่งยังแจ้วแว่วหูสหาย
ว่าเคยพลอดกันอย่างไรไม่เสื่อมคลาย     ก็เหมือนฉันไม่ตายกายธรรม

ยังทำกับฉันอย่างกะฉันนั้นไม่ตาย     ยังอยู่กับท่านทั้งหลายอย่างหนหลัง
มีอะไรมาเขี่ยไค้ให้กันฟัง     เหมือนฉันนั่งร่วมด้วยช่วยชี้แจง
ทำกับฉันอย่างกะฉันไม่ตายเถิด     ย่อมจะเกิดผลสนองหลายแขนง
ทุกวันนัดสนทนาอย่าเลิกแล้ง     ทำให้แจ้งที่สุดได้เลิกตายกันฯ

กลับหน้าแรก : คลิ๊กตรงนี้
กลับยังเมนูหลัก ท่องไชยาทางโลก-ท่องสวนโมกข์ทางธรรม : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ท่องไชยาทางโลก : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ศิลปป้องกันตัวแบบฉบับมวยไชยา : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ท่องส่วนโมกข์ทางธรรม : คลิ๊กตรงนี้

 

  
MENU
 
WEB LINK
 
VISIT
 สถิติวันนี้ 80 คน
 สถิติเมื่อวาน 116 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
3657 คน
55803 คน
937855 คน
เริ่มเมื่อ 2012-10-14
 
Copyright (c) 2006 by Ronnarong