Sangtakieng.com

scaffolding erector, scaffolding inspector and safe access scaffolds 
ผู้ติดตั้งนั่งร้าน ผู้ตรวจ ผู้ใช้นั่งร้านและการกำกับดูแลงานนั่งร้านในสถานประกอบกิจการ 
 
ตอนที่สาม นั่งร้านท่อประกอบ หน้า ๑
(โครงสร้างและมาตรฐานนั่งร้านท่อประกอบ)
 
งานเขียน เรียบเรียง : รณรงค์ แสงตะเกียง
facebook : รณรงค์ แสงตะเกียง
บริษัท เอเซีย แสงตะเกียง จำกัด (ASSA) 
e-mail. contact number : sangtakieng@gmail.com  093 7719222

โครงสร้างและมาตรฐานนั่งร้านท่อประกอบ
 
เพื่อให้การเรียนรู้เรื่องนั่งร้านเข้าใจง่าย จำเป็นต้องนำเสนอเป็นลำดับขั้นและเลือกโมเดลเรียนรู้ให้ถูกต้อง ลำดับนำเสนอจะเริ่มจากโครงสร้างหลัก มาตรฐานนั่งร้าน วิธีติดตั้งและข้อกำหนดการติดตั้ง
 
 
 
คำอธิบายจะอ้างอิงข้อกำหนดการติดตั้งนั่งร้านมาตรฐานอังกฤษ อนุกรมเอกสาร BS EN 12811 ร่วมกับการเก็บข้อมูลจริงภาคสนาม ไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยยูนิต และทอดช่วงเวลาไม่ต่ำกว่าแปดปี ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ข้อมูลเพียงช่วงเวลาสั้นๆ หากจะกล่าวให้เข้าใจง่ายคือเป็นข้อกำหนดที่ผ่านการปรับใช้งานจริง แล้วนั่นเอง
นั่งร้านถูกติดตั้งเป็นโครงสร้างชั่วคราวเพื่อทำงานบนที่สูง หากกล่าวถึงโครงสร้างก็ต้องนึกถึงมิติกว้าง ยาว สูง การส่งถ่ายแรงหรือโหลดทั้งตามแนวดิ่ง ตามแนวนอนและการส่งถ่ายโหลดระหว่างแนวดิ่งกับแนวนอนโดยผ่านค้ำยัน bracing
 
  • scaffolding width ความกว้างนั่งร้าน
  • bay length, scaffolding length ความยาวระหว่างช่วงเสา, ความยาวรวมทั้งหมดของนั่งร้าน
  • lift height or ledger spacing ความสูงนั่งร้านหนึ่งชั้น
  • foot tie or kicker คิกเกอร์คือท่อนอนชุดล่างสุดมีหน้าที่ยึดกำหนดฐานกว้าง ยาวนั่งร้านมีสองด้านคือ คิกเกอร์ตามความกว้างและคิกเกอร์ตามแนวยาว
อุปกรณ์โครงสร้าง เป็นส่วนประกอบหลักที่ต้องรู้จักก่อน 
 
  • sole board แผ่นรองฐาน เป็นอุปกรณ์ติดตั้งไว้ด้านล่างสุดของนั่งร้าน มีหน้าที่กระจายโหลดทั้งหมดที่เกิดขึ้นลงสู่พื้นด้านล่าง แผ่นรองฐานนั่งร้านจะรองคราวละหนึ่งเสา หมายถึงหนึ่งเสาต่อหนึ่งชิ้นหรือติดตั้งควบคราวละสองเสาก็ได้ หากเป็นแผ่นพื้นโลหะให้วางหงาย มีเงื่อนไขการติดตั้งดังนี้
  1. พื้นดินแข็งทั่วไป กำหนดให้ติดตั้งหนึ่งชิ้นต่อหนึ่งเสา ความยาวต้องไม่น้อยกว่า ๔๖๐ เซนติเมตรและกรณีติดตั้งแบบควบเสา ส่วนปลายต้องเลยห่างจากต้นเสาไม่น้อยกว่า ๓๐ เซนติเมตร
  2. พื้นดินอ่อนที่ไม่ใช่ดินเลน หนึ่งชิ้นต่อหนึ่งเสาให้ใช้ความยาวสองเท่าของ ๔๖๐ เซนติเมตร หากติดตั้งควบเสา ส่วนปลายต้องเลยจากต้นเสาไม่น้อยกว่า ๖๐ เซนติเมตร กรณีเป็นพื้นดินเลนให้กำหนดโดยวิศวกรโยธา
  3. พื้นดินแข็งมีการออกแบบค่ารับแรงต่อหน่วยพื้นที่เช่น พื้นรับแรงของตัวอาคารโรงงาน ผิวจราจรที่รถบรรทุกหนักวิ่งผ่านได้ ไม่ต้องใช้ sole board
  • base plate แผ่นรองตีนเสา มีขนาดมาตรฐานกว้างยาวด้านละ ๑๕ เซนติเมตร ความหนา ๕ มิลลิเมตร มีเดือยเชื่อมประกอบอยู่กับแผ่นขึ้นรูป ซึ่งเดือยจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางนอกเล็กกว่ารูในท่อนั่งร้านประมาณ ๒ มิลลิเมตร ยาว ๓๐ เซนติเมตร (ไม่ต้องจำเนื่องจากเป็นขนาดมาตรฐาน) BS EN 12811 กำหนดให้ติดตั้งทุกต้นเสา หน้าทีของเบสเพลทคือกระจายโหลดแต่ละเสานั่งร้านลงสู่แผ่นรองฐาน
 
 
  • post ท่อเสานั่งร้าน ถูกติดตั้งตามแนวดิ่งวางอยู่บนแผ่นรองตีนเสา (base plate) เป็นขนาดท่อตามมาตรฐาน BS EN 74, มาตรฐานท่อนั่งร้านตาม BS EN 74 หมายถึงเส้นผ่าศูนย์กลางนอก ๔๘.๓ มิลลิเมตร ความหนาผนังท่อมีสองขนาด type one ความหนา ๓.๒ มิลลิเมตรและ type two ความหนาผนังท่อ ๔.๐ มิลลิเมตร หน้าที่คือรับโหลดตามหลักการของโครงสร้าง ซึ่งเกิดขึ้นโดยตรงตามแนวดิ่ง หรือโหลดที่เกิดตามแนวนอนจากแผ่นพื้น จากตง จากคานและถูกถ่ายจากแนวนอนสูงไปยังแนวดิ่งด้วยท่อค้ำยัน (scaffolds bracing pipe)
  • ledgers or runner คานจะถูกติดตั้งตามแนวนอน หน้าที่รับโหลดแนวนอน อยู่ด้านนอกของเสา ชิดเสาใต้ตง
  • transoms ตงจากข้อกำหนดของมาตรฐานการติดตั้ง ห่างได้สูงสุด ๑.๒ เมตร จึงต้องมีสองประเภทคือ ตงหลักและตงเสริม
  1. ตงหลัก main transoms ติดตั้งบนคานชิดเสา
  2. ตงเสริม intermediate transoms ติดตั้งบนคานระหว่างช่วงเสา ห่างจากตงหลักไม่เกิน ๑.๒ เมตร ไม่ต้องมีตงเสริม

มาตรฐานนั่งร้าน Scaffolding Standards
 
มาตรฐานนั่งร้านมีหลายฉบับ หากแต่โลกอุตสาหกรรมใช้มากที่สุดคือมาตรฐานอังกฤษ (British Standard BS EN 12811, BS EN 74, BS 2482 2009) ซึ่งเอกสารฉบับนี้จะกล่าวถึง มาตรฐานนั่งร้านแบ่งออกเป็นสองส่วนคือมาตรฐานอุปกรณ์และมาตรฐานการติดตั้ง equipment standard and erecting standard 
 
  • มาตรฐานการติดตั้ง BS 5973 (1993) ยกเลิก ใช้ BS EN 12811 แทนเมื่อปีคริสต์ศักราช 2004
  • มาตรฐานท่อ แคลมป์ BS 1139 (1993) ยกเลิก ใช้ BS EN 74 แทนเมื่อปีคริสต์ศักราช 2006
  • มาตรฐานแผ่นปูพื้น BS 2482 (1981) ยกเลิก ใช้  BS 2482 (2009) แทนเมื่อปีคริสต์ศักราช 2009
การปรับปรุงพัฒนามาตรฐานงานนั่งร้าน เริ่มจากแก้ไขวิธีติดตั้งเป็น BS EN 12811 เมื่อปีคริสต์ศักราช ๒๐๐๔ (๒๐๐๔+๕๔๓=พุทธศักราช ๒๕๔๗) ซึ่งในห้วงเวลาดังกล่าว ภาคอุตสาหกรรมประเทศไทยหรืออาจจะหมายความรวมถึงภาคพื้นโดยรอบประเทศไทยด้วย แทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงอันใดเลย ยังคงใช้มาตรฐานติดตั้ง BS 5973 เวอร์ชั่น 1993 ดังเดิมและเริ่มปรับการใช้งานมากขึ้นหลังจากมาตรฐานท่อ มาตรฐานแคลมป์ มาตรฐานแผ่นปูพื้นและมีการผลิตอุปกรณ์ตามมาตรฐานใหม่ออกมาใช้งาน
และบนความเป็นจริง แม้มาตรฐานนั่งร้านฉบับปรับปรุงแก้ไขจะแล้วเสร็จตั้งแต่ปีคริสต์ศักราช ๒๐๐๙ ก็ตาม แต่ปรากฏว่าอุปกรณ์ของหลายหน่วยงานยังมีสภาพปกติ การติดตั้งแบบเดิมซึ่งค่าคำนวณตามหลักวิศวกรรมการรับแรงก็ยังใช้ได้ ฉะนั้นแนวทางการใช้นั่งร้านในปัจจุบัน จึงยังยอมรับให้ใช้อุปกรณ์และการติดตั้งตามเวอร์ชั่นเดิมได้ จนกว่าอุปกรณ์จะชำรุด การใช้อุปกรณ์เดิมและวิธีติดตั้งแบบเดิมหมายความว่า
  • ใช้อุปกรณ์นั่งร้านมาตรฐานเดิม ติดตั้งตามมาตรฐานเดิม BS 5973
  • ใช้อุปกรณ์นั่งร้านมาตรฐานใหม่ ติดตั้งตามมาตรฐานใหม่ BS EN 12811  

โหลดนั่งร้าน Load Combinations
 
ทฤษฎีทางวิศวกรรม ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานเดิมหรือมาตรฐานปัจจุบันของอังกฤษ BS EN 12811 โหลดนั่งร้านมาจากสามส่วน
 
  • dead loads คือโหลดจากน้ำหนักอุปกรณ์นั่งร้านและอุปกรณ์ส่วนควบทั้งหมด การติดตั้งนั่งร้านจึงต้องใช้จำนวนอุปกรณ์ตามที่มาตรฐานกำหนด ไม่ใช้เกิน ตัวอย่างเช่น ชั้นใดไม่ใช่ชั้นทำงานก็ไม่ต้องปูพื้นหรือข้อกำหนดทุกๆ หกเมตรระหว่างทางขึ้นนั่งร้านต้องมีชั้นพักและชั้นพักให้ติดตั้งแผ่นพื้น ๒-๓ แผ่น หากมากกว่านี้โหลดนั่งร้านจะเพิ่มขึ้น โดยไม่จำเป็น ฯลฯ
  • live loads โหลดจากน้ำหนักบรรทุก เช่นคน วัสดุ เครื่องมือ อุปกรณ์ ซึ่งจะคิดโหลดหน่วยเป็นกิโลกรัมต่อตารางเมตร ทฤษฎีโครงสร้างอาจมีหลายองค์ประกอบแต่สำหรับงานนั่งร้านมาตรฐานอังกฤษ BS EN 12811 จะเน้นที่ระยะห่างระหว่างเสากับระยะห่างระหว่างตงเป็นองค์ประกอบหลัก หมายความว่าเสาชิดกว่า ตงชิดกว่า นั่งร้านจะรับโหลดได้มากขึ้น
  • environmental loads โหลดจากภาวะแวดล้อมเช่นแรงสั่นสะเทือนจากพื้นที่ใกล้เคียง แรงปะทะลม ฯลฯ งานนั่งร้านจะคิดแรงปะทะลมฉพาะนั่งร้านติดตั้งผ้าใบเท่านั้น หากเป็นนั่งร้านโปร่งถือว่าอยู่ในค่ายอมรับ ไม่นำมาคิดคำนวณ
 
 
อาจมีหลายองค์ประกอบที่ทำให้โครงสร้างรับโหลดได้ต่างกัน สำหรับงานนั่งร้าน BS EN 12811 จะเน้นที่ระยะห่างระหว่างเสากับระยะห่างระหว่างตง เสาชิดตงชิด นั่งร้านก็จะรับโหลดได้มากขึ้น 

ขั้นตอนติดตั้งนั่งร้าน Erecting Scaffolds 
 
ข้อมูลที่กล่าวถึงก่อนหน้า จะไม่นำมาอธิบายซ้ำซ้อนอีก จากนี้จะเชื่อมโยงให้เข้าใจความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างสำหรับงานติดตั้งนั่งร้านเป็นลำดับขั้น พึงจำไว้ว่าโหลดนั่งร้านมีหลายระดับ เทคนิคการนำเสนอในเอกสารนี้ จะใช้ข้อมูลนั่งร้านระดับโหลดปานกลาง general purpose มาเป็นโมเดลเรียนรู้ 
 
  • ติดตั้งโซล์บอร์ด (แผ่นรองฐานนั่งร้าน) Sole Board : ติดตั้งโซล์บอร์ด sole board พิจารณาความแข็งแรงของพื้นซึ่งจะติดตั้งนั่งร้าน หากเป็นพื้นดินเลน ดินอ่อนหรือดินชุ่มน้ำให้กำหนดการใช้โซล์บอร์ดโดยวิศวกรโยธา ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร การติดตั้งแผ่นรองฐานนั่งร้านให้ยึดแนวปฏิบัติดังนี้
  1. พื้นคอนกรีตเสริมแรงผิวราบหรือทางจราจรซึ่งอนุญาตให้รถบรรทุกผ่านได้ ไม่ต้องใช้โซล์บอร์ด
  2. พื้นดินบดอัดหรือพื้นดินแห้งทั่วไป ความยาวโซล์บอร์ดต่อหนึ่งเสาขนาดไม่ต่ำกว่า ๔๖๐ มิลลิเมตร หากใช้สองเสานั่งร้านต่อโซล์บอร์ดหนึ่งชิ้น ส่วนปลายต้องเลยเสาไม่ต่ำกว่าข้างละ ๓๐๐ มิลลิเมตร
  3. พื้นดินอ่อนยุบตัวง่าย ให้ใช้ความยาวโซล์บอร์ดต่อหนึ่งเสานั่งร้านเป็นสองเท่าของ ๔๖๐ มิลลิเมตรหรือประมาณหนึ่งเมตร
  • แผ่นรองตีนเสา Base Plate : แผ่นรองตีนเสา base plate มีหน้าที่กระจายโหลดของแต่ละเสานั่งร้านลงยังแผ่นรองฐาน แผ่นรองตีนเสามีข้อบังคับให้ติดตั้งทุกต้นเสา
 
 
  • เสานั่งร้าน Scaffolding Post เงื่อนไขและข้อกำหนดการติดตั้ง : ความกว้างของเสา กำหนดจากความกว้างพื้นนั่งร้านที่ต้องการใช้ ตัวอย่างเช่นต้องการพื้นนั่งร้านความกว้าง ๖ แผ่น ความกว้างแผ่นปูพื้นหนึ่งแผ่น วัดได้เท่ากับ ๒๒๐ มิลลิเมตร ให้นำไปบวกกับความหนาแคลมป์ยึดพื้น ๕ มิลลิเมตร + ช่องว่างซ้ายขวาของแคลมป์เมื่อติดตั้งพื้นนั่งร้านอีก ๕ มิลลิเมตร การติดตั้งนั่งร้านหนึ่งแผ่นจะใช้ความกว้าง ๒๒๐+๕+๕=๒๓๐ มิลลิเมตรหรือ ๒๓ เซนติเมตร หากต้องการนั่งร้านความกว้างหกแผ่น จะได้ระยะติดตั้งเสาความแนวความกว้างเท่ากับ ๒๓ เซนติเมตร x ๖ แผ่น=๑๓๘ เซนติเมตร
 
 
 
การต่อเสา ให้ต่อโดยใช้ปลอกสวม sleeve clamp เสาในชั้นเดียวกันอยู่ตำแหน่งติดกันห้ามต่อ ลำดับนี้ให้ดูภาพหน้าก่อนนี้ประกอบ ตัวอย่างเช่นต่อเสาหนึ่ง เสาที่ต่อได้คือเสา สาม หกและแปด เสาอื่นๆ ห้ามต่อ 

  • คิ๊กเกอร์ Kickers : คิ๊กเกอร์คือท่อนอนตามแนวยาวและท่อนอนตามแนวกว้าง ซึ่งติดตั้งส่วนล่างสุดอยู่ด้านในเสา สูงจากแผ่นรองฐาน ๒๐-๓๐ เซนติเมตร คิ๊กเกอร์ยึดกับเสาด้วยแคลมป์ตาย (right angle clamp) หน้าที่คือกำหนดความกว้างและความยาวนั่งร้าน โดยปกติคิ๊กเกอร์ตามแนวยาวจะถูกติดตั้งไว้ด้านล่างของคิ๊กเกอร์แนวกว้าง แม้ไม่ได้เป็นเหตุผลทางวิศวกรรมแต่เป็นแนวปฏิบัติที่ยึดถือเหมือนๆ กัน การติดตั้งกิ๊กเกอร์ไม่ได้วางทับบนล่างกันเนื่องจาก (๑) ใช้แคลมป์ตายติดตั้งทำให้ท่อผิวแนบกันไม่ได้และ (๒) เจตนารมณ์ของคิ๊กเกอร์เพื่อยึดกำหนดฐานกว้างยาวของนั่งร้าน ไม่ได้เพื่อการส่งถ่ายโหลดจากด้านบนลงสู่ด้านล่าง
การติดตั้งคิ๊กเกอร์ ต้องวัดและปรับระยะเส้นทแยงมุมของเสาให้มีค่าใกล้เคียงกัน จะให้เส้นทแยงมุมเท่ากันพอดีคงไม่ได้ เนื่องจากแคลมป์นั่งร้านผลิตโดยวิธีขึ้นรูป ยอมรับค่าเบี่ยงเบนได้ สองแนวเส้นทแยงมุมจึงใช้ค่าโดยประมาณ 
 
 

  • คาน Runner : คานยึดกับเสานั่งร้านติดตั้งไว้ใต้ตงโดยใช้แคลมป์ตาย ในทางปฏิบัติช่างนั่งร้านมักจำว่า ใต้ตงชิดเสาติดตั้งกับเสาด้วยแคลมป์ตาย การต่อคานและคิ๊กเกอร์ ทั้งระนาบดิ่งบนล่างและระนาบแนวนอน คานหรือคิ๊กเกอร์ที่อยู่ติดกัน ห้ามต่อ การศึกษาเรียนรู้ให้พิจารณาจากภาพด้านล่างนี้
 
 
  • ตงหลักและตงเสริม Main Transom and Intermediate Transom : ตงหลักและตงเสริมติดตั้งไว้บนคาน นั่งร้านระดับโหลดปานกลาง กำหนดว่าตงต้องมีระยะห่างไม่เกิน ๑.๒ เมตร ดังนั้นงานนั่งร้านจึงต้องกล่าวถึงตงเสริมด้วย
  1. ตงหลัก main transom ติดตั้งบนคานชิดเสา ยึดด้วยแคลมป์พาดยึดหรือ  แคลมป์มือลิง (putlog clamp)
  2. ตงเสริม intermediate transom นั่งร้านยูนิตใดที่ระยะเสาตามแนวความยาวห่างเกิน ๑.๒ เมตร ต้องติดตั้งตงเสริม ตงเสริมให้ติดตั้งด้วยแคลมป์พาดยึดบนคาน ระยะกลางของช่วงเสาหรือห่างจากเสาได้ไม่เกิน ๑.๒ เมตร
การใช้แคลมป์ยึดตงมีสองวิธี หมายถึงนั่งร้านระดับ very light duty, light duty และนั่งร้านระดับ general purpose ให้ติดตั้งตงหลักและตงเสริมโดยใช้แคลมป์พาดยึด (มือลิง)  พาดยึด-พาดยึด-พาดยึด ส่วนนั่งร้านระดับ heavy load ให้ติดตั้งตงหลักโดยใช้แคลมป์ตาย right angle clamp และตงเสริมโดยใช้แคลมป์เป็น swivel clamp แคลมป์ตาย-แคลมป์เป็น-แคลมป์ตาย สำหรับข้อมูลเชิงวิศวกรรม เมื่อคำนวณความแข็งแรงเกี่ยวกับการรูดตามแนวนอน พบว่าไม่ทำให้ความแข็งแรงและความสามารถในการรับโหลดลดลง ดังนั้นนั่งร้านแม้จะเป็นระดับใช้งานโหลดสูง ก็ยอมรับให้ใช้แคลมป์พาดยึดหรือแคลมป์มือลิง ยึดตงกับคานได้ด้วย 
 
อ่านต่อ-ตอนที่สาม นั่งร้านท่อประกอบ หน้า ๒ : คลิ๊กตรงนี้ 

งานฝึกอบรม แปลเอกสารเซฟตี้ ปรึกษาการจัดทำระบบ-ระเบียบปฏิบัตืงาน : บริษัท เอเซีย แสงตะเกียง จำกัด (ASSA)  Tel 093 7719222  E-mail sangtakieng@gmail.com  
 

กลับหน้าแรก : คลิ๊กตรงนี้
กลับไปยังเมนู ตอนที่หนึ่ง ประเภทนั่งร้าน : คลิ๊กตรงนี้
กลับไปยังเมนู ตอนที่สอง อันตรายงานนั่งร้าน : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ตอนที่สาม นั่งร้านท่อประกอบ หน้า ๒ : คลิ๊กตรงนี้ 
ไปยังเมนู ตอนที่สาม นั่งร้านท่อประกอบ หน้า ๓ คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู การกำกับดูแลงานนั่งร้านในสถานประกอบกิจการ : อยู่ระหว่างพัฒนา

  
MENU
 
WEB LINK
 
VISIT
 สถิติวันนี้ 8 คน
 สถิติเมื่อวาน 130 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
3869 คน
20859 คน
902911 คน
เริ่มเมื่อ 2012-10-14
 
Copyright (c) 2006 by Ronnarong