Sangtakieng.com

scaffolding erector, scaffolding inspector and safe access scaffolds  
ผู้ติดตั้งนั่งร้าน ผู้ตรวจนั่งร้าน ผู้ใช้นั่งร้านและการกำกับดูแลงานนั่งร้านในสถานประกอบกิจการ

ตอนที่สาม นั่งร้านท่อประกอบ หน้า ๒
 
งานเขียน เรียบเรียง : รณรงค์ แสงตะเกียง
facebook : รณรงค์ แสงตะเกียง 
บริษัท เอเซีย แสงตะเกียง จำกัด (ASSA)
e-mail. contact number : sangtakieng@gmail.com  093 7719222

ขั้นตอนการติดตั้งนั่งร้าน Erecting Scaffolds (ต่อจากนั่งร้านท่อประกอบหน้า ๑)
 
  • ค้ำยัน Bracing : ค้ำยันหมายถึงท่อเฉียงที่ติดตั้งระหว่างเสากับเสาโดยใช้แคลมป์เป็น (swivel clamp) จับยึด มุมของค้ำยันคือ ๔๕ องศา ยอมรับค่าเบี่ยงเบน +/- ๑๐ องศา หรือจะกล่าวอย่างง่ายคือ ๔๕-๕๕ องศานั่นเอง หน้าที่ของค้ำยันคือส่งถ่ายโหลดระหว่างแนวดิ่งกับแนวนอน ทำให้นั่งร้านไม่โยก เหตุใดค้ำยันต้องเอียงมุมประมาณ ๔๕ องศา ให้หาคำตอบโดยพิจารณาฟังก์ชั่นของตรีโกณมิติ ต่อไปนี้
Cos 30=sin 60= 0.866, Cos 45=Sin 45=0.7071
Cos 60=sin 30= 0.500, Cos 0=Sin90=1.000  
 
หมายความว่าที่มุม ๔๕ องศา ค้ำยันจะส่งถ่ายโหลดระหว่างแนวดิ่งกับแนวนอนได้สมดุลมากที่สุด ค้ำยันโดยทั่วไปจะมีสองแบบคือค้ำยันตามแนวความกว้างและค้ำยันตามแนวยาว ระยะระหว่างแคลมป์ตายยึดคานกับแคลมป์เป็นยึดค้ำยัน (loading point) และระยะระหว่างแคลมป์ตายยึดคิ๊กเกอร์ ข้อกำหนดไม่เกิน ๓๐ เซนติเมตร ค่าแนะนำติดตั้งคือประมาณ ๒๐ เซนติเมตร  
 
 
 
  • แผ่นปูพื้น Scaffolding Plank : แผ่นปูพื้นนั่งร้าน scaffolding plank มีทั้งไม้เนื้อแข็งและแผ่นเหล็กกัลวาไนท์เสริมโครง ปัจจุบันจะผลิตเฉพาะเหล็กเท่านั้น อย่างไรก็ตามแผ่นปูพื้นนั่งร้านถูกนำไปใช้ในสามลักษณะและมีเจตนารมณ์แตกต่างกัน และจะเรียกชื่อแตกต่างกันไปด้วย ตัวอย่างเช่น เมื่อนำไปรองฐานเพื่อกระจายโหลดจากเสานั่งร้านลงพื้นเรียกว่าแผ่นรองฐาน sole board & ใช้ปูพื้นชั้นทำงานหรือปูพื้นชั้นพัก เรียกว่าแผ่นปูพื้น scaffolding planks และเมื่อนำไปติดตั้งเพื่อกันของตกจากชั้นพักหรือพื้นทำงาน เรียกว่าแผ่นกันของตก toe board แผ่นปูพื้นนั่งร้านตามมาตรฐาน BS 2482 เวอร์ชั่น ปีคริสต์ศักราช 2009 มีความกว้าง ๒๐๐, ๒๒๐ มิลลิเมตร ส่วนความหนามี ๔๐ และ ๖๕ มิลลิเมตร เขียนให้เข้าใจง่ายได้ดังนี้

ความกว้าง ๒๐๐ มิลลิเมตร มีขนาดความหนา ๔๐ และ ๖๕ มิลลิเมตร /ความกว้าง ๒๒๐ มิลลิเมตร มีขนาดความหนา ๔๐ และ ๖๕ มิลลิเมตร 

วิธีการและข้อกำหนดการติดตั้งแผ่นปูพื้น-ข้อกำหนดขั้นพื้นฐาน (หนึ่ง) นั่งร้านชั้นที่ไม่ทำงานก็ไม่ต้องปูพื้นและ (สอง) สืบเนื่องจากข้อกำหนดการติดตั้งบันได บันไดแต่ละช่วงห้ามสูงเกินหกเมตร และทุกความสูงหกเมตรต้องมีชั้นพัก การติดตั้ง-ส่วนขอบด้านข้างของแผ่นพื้นต้องชิดกันและให้จับยึดกับตงด้วยแคลมป์ยึดพื้น plank clamp (ปัจจุบันไม่กล่าวถึงการขันชะเนาะด้วยลวดเหล็ก เนื่องจากเลิกใช้แล้ว) ด้านข้างแผ่นปูพื้นจะมีช่องว่างเท่ากับความหนาของแคลมป์ & สองข้าง ๕ มิลลิเมตร ส่วนปลายแผ่นปูพื้นให้ต่อชน ห้ามเกยและเลยแนวตงสี่เท่าของความหนาแผ่นปูพื้น  
 
 
 
อธิบายภาพ ตงสำหรับปูพื้นนั่งร้านต้องมีระยะห่างตามข้อกำหนดของโหลดนั่งร้าน หมายความว่านั่งร้านระดับโหลดปานกลาง general purpose หรือต่ำกว่าโหลดปานกลาง ระยะตงห่างไม่เกิน ๑.๒ เมตร ส่วนนั่งร้านโหลดสูง heavy duty ระยะตงห่างไม่เกิน ๐.๙ เมตร (ดูภาพระยะเอ) ส่วนปลายของของแผ่นปูพื้นนั่งร้านต้องเลยตง (ดูภาพระยะบี) ประมาณสี่เท่าของความหนา

 
 
  • แผ่นกันของตกและรั้วกันตก Guard Rails : การ์ดแรลประกอบด้วยแผ่นกันของตก รั้วกลางและรั้วบน toe board, midrail and handrail ข้อกำหนดความสูงรั้วบน ๙๐-๑๑๐ เซนติเมตร
    1. แผ่นกันของตก toe board หน้าที่ป้องกันของตกจากพื้นนั่งร้าน ติดตั้งรอบทั้งชั้นพักและชั้นทำงานด้วยแคลมป์ยึดพื้น ทั้งนี้โดยนำแผ่นปูพื้นวางแนวตั้งพิงกับเสานั่งร้านหรือเสาลอย (หรือเสาเสริมหรือเสารั้ว)
    2. รั้วกลางและรั้วบน midrail and handrail ยึดกับเสานั่งร้านหรือเสาเสริมด้วยแคลมป์พาดยึดหรือแคลมป์มือลิง (putlog clamp) ระดับความสูง ๔๕-๕๕ เซนติเมตรและระยะ ๙๐-๑๑๐ เซนติเมตรตามลำดับ
    3. ช่องทางขึ้นชั้นทำงาน  platform access way ชั้นทำงานต้องมีช่องทางเปิดเพื่อเดินขึ้นทำงาน ซึ่งระยะบังคับไม่แคบกว่า ๒๕ เซนติเมตร หากกว้างเกินไปก็อาจเกิดอุบัติเหตุจากการตก จากการทำประเมินความเสี่ยงจึงแนะนำ ไม่ควรกว้างเกิน ๔๐ เซนติเมตร ปลายท่อตรงทางขึ้นต้องสวมด้วยฝาครอบ scaffolding end cap
    4. ส่วนปลายเสานั่งร้านและส่วนปลายเสาเสริมราวกันตก ต้องสูงเลยรั้วบนไม่น้อยกว่า ๒๐ เซนติเมตร  
  • บันได Scaffolding Ladder : บันไดนั่งร้าน scaffolding ladder ต้องเป็นบันไดชนิดที่ใช้กับนั่งร้านโดยตรง ข้อกำหนดและเงื่อนไขเกี่ยวกับบันไดนั่งร้าน
    1. องศาพาดบันได เอียงประมาณ ๔:๑ หรือประมาณ ๗๕ องศา
    2. บันไดแต่ละช่วงกำหนดสูงไม่เกินหกเมตร หากสูงเกินนี้ต้องมีชั้นพัก บันไดช่วงหกเมตรแรกจากพื้น อนุญาตติดตั้งนอกโครงนั่งร้านได้ ทุกๆ ช่วงหกเมตรถัดไป ต้องติดตั้งบันไดภายในโครงนั่งร้านเท่านั้น
    3. ส่วนปลายบันไดต้องเลยจุดพาดขั้นต่ำ ๙๐ เซนติเมตร
    4. ปลายตงที่รองรับบันไดต้องเลยเฟรมบันไดไม่น้อยกว่า ๒๐ เซนติเมตร
    5. การติดตั้งบันไดที่สูงกว่าสี่เมตร ต้องมีตงร้องรับและจับยึดขั้นต่ำสามจุด
บันทึกเพิ่มเติม ขั้นตอนติดตั้งนั่งร้านท่อประกอบซึ่งกำลังกล่าวถึงอยู่นี้ เป็นรากฐานสำคัญ สามารถนำไปปรับใช้ตามข้อบังคับว่าด้วยการสร้าง ประกอบ ติดตั้ง ทดสอบ ตรวจสอบ ใช้ ฯลฯ ของกฎหมายไทยได้
 
 
 

  • ท่อนั่งร้าน Scaffolding Pipe

ท่อนั่งร้านมาตรฐาน BS EN 74 จะซื้อขายกันที่ความยาวมาตรฐาน ๖ เมตร หลังจากนั้นผู้ใช้จะนำมาตัดและทาสีโทนสว่างที่ส่วนปลายความยาว ๒๐ เซนติเมตร หลายท่านอาจไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทาสีที่ส่วนปลายท่อ เหตุผลก็คือมาตรฐานติดตั้งนั่งร้าน BS EN 12811 กำหนดว่านั่งร้านท่อประกอบ (tubular scaffolds) ส่วนปลายท่อต้องยื่นเลยเฟรมประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ในทางปฏิบัติค่ายอมรับ ๒๐ เซนติเมตร จึงเป็นเหตุผลที่เกี่ยวเนื่องกับงานตรวจนั่งร้าน หลังติดตั้งแล้วเสร็จผู้ตรวจนั่งร้าน จะตรวจค่ายื่นของปลายท่อได้สะดวกและรวดเร็วจากสีโทนสว่างที่ทาไว้นั่นเอง ท่อนั่งร้านความยาวมาตรฐานหกเมตร หน่วยงานต้องตัดให้ได้ความยาวใช้งาน ที่ความยาวต่างๆ ซึ่งมีความยาว ๑.๐ เมตร ๑.๕ เมตร ๒.๐ เมตร ๒.๕ เมตรและ ๓.๐ เมตร สำหรับสีที่แนะนำต้องเป็นสีโทนสว่างมองแล้วเด่นชัดตัดกับสีท่อกัลวาไนท์ อันดับแรกที่แนะนำคือสีเหลือง เพราะตอนตรวจนั่งร้านจะมองเห็นได้ชัดเจน สีอื่นรองๆ ลงมาคือสีแสด สีแดง สีฟ้า สีน้ำเงินหรือสีขาว ฯลฯ เป็นต้น

มาตรฐานท่อนั่งร้าน BS EN 74 เป็นท่อเหล็กเคลือบสังกะสีหรือท่อกัลวาไนท์ เส้นผ่าศูนย์กลางนอก (outside diameter) ๔๘.๓ มิลลิเมตร มีสองประเภท  
    1. ไทพ์หนึ่ง ความหนาผนังท่อ wall thickness ๓.๒ มิลลิเมตร
    2. ไทพ์สอง ความหนาผนังท่อ wall thickness ๔.๐ มิลลิเมตร     
ด้วยลักษณะโครงสร้างของนั่งร้านท่อประกอบ (tubular scaffolds) การศึกษาเรียนรู้ให้แบ่งลักษณะการติดตั้งท่อนั่งร้านออกเป็นสามกลุ่มคือท่อดิ่ง ท่อเฉียงและท่อนอน ทั้งนี้โดยใช้เทคนิคการจำ จากล่างขึ้นบนและจากซ้ายไปขวา  
  1. ท่อดิ่งเสานั่งร้าน เสาเสริมหรือเสาลอยสำหรับติดตั้งแผ่นกันของตกหรือติดตั้งรั้ว (post and puncheon)
  2. ท่อเฉียงมีเพียงชนิดเดียวคือ ค้ำยัน (cross bracing)
  3. ท่อนอนมีหลายชนิด ในงานติดตั้งนั่งร้านถือว่าเป็นความสำคัญที่ช่างนั่งร้านต้องชื่อเรียกและข้อกำหนดการติดตั้งให้ได้
 

  • แคลมป์ ข้อต่อและล้อนั่งร้าน Clamp & Jointers and Caster : แคลมป์อาจเรียกต่างชื่อกันไปบ้างเช่น fitting, couplers เป็นต้น เอกสารฉบับนี้ ใช้ชื่อเรียกว่าแคลมป์ แม้ข้างต้นจะกล่าวถึงบ้างแล้ว แต่ลำดับนี้จะเสริมรายละเอียดอื่นและขยายความเพิ่มเติม
    • แคลมป์ตาย Right Angle Clamp-แคลมป์ตาย ใช้ติดตั้งท่อตามแนวดิ่งกับท่อตามแนวนอน จะบังคับท่อให้ได้ฉากซึ่งกันและกันและบังคับองศาตายตัว หมุนปรับไม่ได้ ใช้ยึดคิ๊กเกอร์ตามแนวยาวกับเสา คิ๊กเกอร์ตามแนวกว้างกับเสาและคานกับเสา นอกจากนี้นั่งร้านระดับโหลดสูง heavy load กำหนดให้ยึดตงหลักกับเสาด้วยแคลมป์ตายและยึดตงเสริมกับคานด้วยแคลมป์เป็น ทั้งนี้เนื่องจากหลังติดตั้ง ความสูงของบ่าแคลมป์จะเท่ากัน ปูพื้นได้ระดับไม่ทำให้แผ่นปูพื้นบิดเสียรูป จึงสรุปได้ว่านั่งร้านโหลดสูงใช้แคลมป์ตายยึดตงหลัก
    • แคลมป์เป็น Swivel Clamp-แคลมป์เป็น ใช้ติดตั้งท่อตามแนวเฉียงหรือต่อทาบตามแนวตรง สองชิ้นที่ประกอบร่วมของแคลมป์ชนิดนี้ จะบังคับบิดปรับองศาได้ ใช้ยึดค้ำยันหรือต่อทาบ การต่อทาบสำหรับงานนั่งร้านมักใช้เพื่อแก้ปัญหาอย่างหนึ่งอย่างใดเท่านั้น ซึ่งโดยปกติของการต่อท่อจะใช้แคลมป์แบบปลอกสวม
 
 
 
    • แคลมป์พาดยึดหรือแคลมป์มือลิง Putlog Clamp-แคลมป์พาดยึดหรือแคลมป์มือลิง ลักษณะเป็นแคลมป์ชิ้นเดียวพื้นที่สัมผัสกับท่อไม่เต็มรอบ นักวิชาการโยธาหรือวิศวกรโครงสร้าง จึงไม่นำมาคำนวณการรับแรงตามแนวดิ่ง ใช้จับยึดท่อตามแนวนอนเท่านั้น การใช้งานจะใช้จับยึดตงกับคานและราวกันตก อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนวณการส่งถ่ายโหลดตามลักษณะโครงสร้าง งานด้านวิศวกรรมโยธาพบว่า แคลมป์พาดยึดสามารถใช้ยึดตงหลักกับคานและตงเสริมกับคานได้ รับโหลดได้กับนั่งร้านทุกระดับ ฉะนั้นต้องพิจารณาว่าระเบียบปฏิบัติของสถานประกอบกิจการ ยึดตามแนวทางใด หากยึดตามข้อกำหนดของมาตรฐานอังกฤษว่าด้วยการใช้แคลมป์ นั่งร้านระดับโหลดสูง heavy load ต้องใช้แคลมป์ตายยึดตงหลัก หากยึดถือค่าคำนวณอาจเลือกใช้แคลมป์ตายหรือ แคลมป์พาดยึดก็ได้ ณ ที่นี่แนะนำให้ใช้แคลมป์พาดยึดทั้งหมดเนื่องจากทำงานง่าย สะดวก ปูพื้นได้เรียบไม่ส่งผลให้แผ่นปูพื้นนั่งร้านบิดเบี้ยวเสียรูป
การใช้แคลมป์พาดยึดที่ราวกันตก ให้จับแคลมป์ในลักษณะหงายขึ้น ทั้งนี้ในขั้นตอนการรื้อถอนนั่งร้าน จะควบคุมป้องการตกของท่อนั่งร้านได้ง่ายกว่า กรณีที่ใช้แคลมป์ยึดตงผิดประเภท การติดตั้งตงก็จะไม่ได้ระดับ ซึ่งจะยึดพื้นด้วยแคลมป์ยึดพื้นไม่ได้ ช่างนั่งร้านจึงใช้ลวดกัลป์วาไนท์เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓ มิลลิเมตรมามัดยึดแทน สิ่งที่ตามมาคือแผ่นพื้นนั่งร้านที่เป็นโลหะบิดเบี้ยวเสียรูปและเป็นอันเลิกใช้งานเมื่อเสียรูปเกินค่ายอมรับ
    • แคลมป์ยึดแผ่นพื้น Plank Clamp-แคลมป์ยึดแผ่นพื้น ดังที่กล่าวถึงข้างต้นว่าแผ่นปูพื้นถูกนำไปติดตั้งในงานนั่งร้านสามที่ คือแผ่นรองฐาน แผ่นพื้นและแผ่นกันตก สำหรับแผ่นรองฐานไม่ต้องยึดด้วยแคลมป์ เพียงรองกระจายโหลดด้านล่างของต้นเสาเท่านั้น ส่วนแผ่นพื้นต้องยึดเข้ากับตงและแผ่นกันของตกต้องยึดเข้ากับเสานั่งร้านและเสาลอย โดยใช้แคลมป์ชนิดนี้เช่นกัน
 
 
    • แคลมป์ยึดบันได Ladder Clamp-แคลมป์ยึดบันได เดิมจะเป็นแบบปีกผีเสื้อ (butterfly clamp) การใช้งานจะขันน๊อตให้บีบแน่นกับเฟรมบันได หากเปรียบเทียบพบว่าแคลมป์แบบปัจจุบันมีชิ้นส่วนน้อยกว่าและขันกวดดึงเฟรมบันไดเข้าชิดท่อโครงสร้าง จึงสะดวก ทนทานและติดตั้งบันไดได้แข็งแรงกว่า การออกแบบทางวิศวกรรมที่กล่าวถึงนี้ การยึดบันไดจึงแนะนำให้ใช้แคลมป์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อยึดบันไดโดยเฉพาะ แทนการการใช้แคลมป์แบบปีกผีเสื้อ
    • แคลมป์ยึดบีม Beam Clamp-แคลมป์ยึดบีม แคลมป์ชนิดนี้จะใช้ติดตั้งนั่งร้านเสาเรียงเดี่ยวหรือนั่งร้านเสาฝาก หมายความว่าพื้นที่ปฏิบัติงานมีโครงสร้างหลักอยู่แล้วหนึ่งแถว จึงยึดติดตั้งคานกับโครงสร้างหลักและติดตั้งเสาเพิ่มแค่แถวเดียว
    • ข้อต่อท่อ Joint Pin and Sleeve Clamp-ข้อต่อท่อมีสองแบบคือ ข้อต่อในและข้อต่อแบบปลอกสวม การใช้ข้อต่อในจะสวมเข้าไปในรูท่อนั่งร้านและขันเกลียวเบ่งออก (segment expansion) ให้แน่นกับผนังท่อด้านในของท่อ เมื่อเกลียวของข้อต่อขึ้นสนิมมาก การขันจะฝืดและผิวสัมผัสอาจไม่แน่นและส่งผลให้ให้ต่อท่อไม่แน่น (fictions lose) ด้วยเหตุนี้ ข้อต่อแบบปลอกสวมจึงมีความน่าเชื่อถือมากกว่า
    • ล้อนั่งร้าน Caster-ล้อนั่งร้านสำหรับนั่งร้านเคลื่อนที่ได้ ข้อกำหนดคือ ต้องผลิตตามมาตรฐานใดก็ได้ที่ยอมรับ รับนำหนักได้ไม่ต่ำกว่า ๖๐๐ กิโลกรัมต่อหนึ่งล้อ มีเบรกและวงล้อที่สัมผัสพื้นเป็นวัสดุยูริเทน  
 
               อ่านต่อ-ตอนที่สาม นั่งร้านท่อประกอบ หน้า ๓ : คลิ๊กตรงนี้

 

 

งานฝึกอบรม แปลเอกสารเซฟตี้ ปรึกษาการจัดทำระบบ-ระเบียบปฏิบัตืงาน : บริษัท เอเซีย แสงตะเกียง จำกัด (ASSA)  Tel 093 7719222 E-mail sangtakieng@gmail.com  
 

กลับหน้าแรก : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ตอนที่หนึ่ง ประเภทนั่งร้าน : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ตอนที่สอง อันตรายงานนั่งร้าน : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ตอนที่สาม นั่งร้านท่อประกอบ หน้า ๑ : คลิ๊กตรงนี้  
ไปยังเมนู ตอนที่สาม นั่งร้านท่อประกอบ หน้า ๓ คลิ๊กตรงนี้
 
  
MENU
 
WEB LINK
 
VISIT
 สถิติวันนี้ 117 คน
 สถิติเมื่อวาน 129 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
1806 คน
53952 คน
936004 คน
เริ่มเมื่อ 2012-10-14
 
Copyright (c) 2006 by Ronnarong