Sangtakieng.com

 

lockout tagout safety and permit to work system
วิศวกรรมความปลอดภัยล็อคเอาท์ แท๊กเอาท์และการจัดทำระบบฯ
 
ตอนที่สอง อุปกรณ์ปิดกั้นควบคุมพื้นที่และเซฟตี้แท็ก
งานเขียน เรียบเรียงและนำเสนอ : รณรงค์ แสงตะเกียง
facebook : รณรงค์ แสงตะเกียง
 
บริษัท เอเซีย แสงตะเกียง จำกัด (ASSA)
ฝึกอบรม สัมมนา งานที่ปรึกษาจัดทำระบบ & ระเบียบปฏิบัติงาน
e-mail : sangtakieng@gmail.com mobile 093 7719222

อุปกรณ์ปิดกั้น ควบคุมพื้นที่ปฏิบัติงานและอุปกรณ์ที่ใช้ร่วม

การบริหารจัดการพื้นที่ในที่ทำงานแบ่งออกเป็น ๓ ส่วนคือ พื้นที่ปลอดภัย พื้นที่เตือนอันตราย (อาจได้รับอันตราย) และพื้นที่อันตราย, หากจะมองลึกลงไปเฉพาะพื้นที่ปฏิบัติงาน ก็จะแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือพื้นที่เตือนอันตรายและพื้นที่อันตราย การปิดกั้นควบคุมพื้นที่จึงต้องใช้อุปกรณ์และอุปกรณ์ร่วมดังต่อไปนี้

  • แถบสีและธงริ้ว soft barricade
  • รั้วแข็ง hard barricade
  • สัญญลักษณ์ความปลอดภัย safety sign
  • ป้ายทะเบียนความปลอดภัย safety tag

แถบสีและธงริ้วสำหรับกั้นควบคุมพื้นที่
  • แถบสีและธงริ้ว : หากเป็นแถบกั้นเตือนให้ระวังอันตรายจะมีสีเหลือสลับสีดำ ลักษณะเฉียงสลับสี, สำหรับในอุตสาหกรรมโลกตะวันตกอาจจะมีลักษณะแถบสีเหลืองและมีตัวหนังสือ caution สีดำ (แปลว่าระวัง) เป็นช่วงระยะห่างสม่ำเสมอ /และกรณีเป็นธงริ้ว ก็จะเป็นธงสามเหลี่ยมสีเหลืองและสีดำปลายแหลมชี้ลง ซึ่งแผ่นธงสามเหลี่ยมที่กล่าวถึงนี้ จะถูกนำมาเย็บติดกับเชือกแบบสลับสีเหลือง-ดำ ไปเรื่อยๆ ตลอดความยาวที่ต้องการ
  1. แถบกั้นเตือนหรือธงริ้วกั้นเตือนเหลืองดำ warning tape or warning fag 
  2. แถบกั้นอันตรายหรือธงริ้วกั้นอันตรายขาวแดง danger tape or warning fag

       
 

  • แผงกั้นอันตราย รั้วแข็งและอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ : อุปกรณ์ป้องกันควบคุมอันตรายที่กล่าวถึงนี้ จะมีทั้งแบบผนังทึบและแบบรั้วโปร่ง โดยทั่วไปตามมาตรฐานกำหนด จะสูง ๙๐-๑๑๐ เซนติเมตร ซึ่งอาจจะสูงกว่านี้หากผลการวิเคราะห์ความปลอดภัยหรือผลการประเมินความเสี่ยง (risk assessment) พบว่าต้องสูงกว่านี้หรืออาจจะสูงตามระเบียบด้านความปลอดภัยเฉพาะเรื่องแต่ต้องไม่ต่ำกว่า ๙๐ เซนติเมตร
  • สัญญลักษณ์ความปลอดภัย : สัญญลักษณ์ความปลอดภัยนอกจาก ป้ายความปลอดภัย เครื่องหมายต่างๆ แล้ว ยังหมายความรวมถึง การขีดสีตีเส้น ข้อความ ภาพ ไฟวับวาบ ซึ่งอาจจะใช้สัญญลักษณ์สี ข้อความ ภาพ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันก็ได้

          

  • ป้ายทะเบียนความปลอดภัยหรือเซฟตี้แท๊ก (safety tag) : จากการศึกษาค้นคว้า ไม่พบว่าเอกสารฉบับใดจะแบ่งแยกประเภทของแท๊กไว้ชัดเจน จึงทำสำรวจและเก็บข้อมูลในประเทศไทย ระหว่างช่วงปี ๒๕๓๕-๒๕๖๐ ระยะเวลาเก็บข้อมูลประมาณ ๒๕ ปี เมื่อนำมาประมวลภาพรวม พบว่าป้ายทะเบียนสามารถแบ่งออกได้เป็น ๔ ประเภท ดังนี้
    1. ป้ายทะเบียนเตือน warning tag
    2. ป้ายทะเบียนอันตราย danger tag
    3. ป้ายทะเบียนบอกสถานภาพ inspection tag, information tag
    4. ป้ายทะเบียนอนุญาตบุคคล custom quick ship tag 

ป้ายทะเบียนเตือนและการใช้งาน warning tag

ลักษณะของป้ายทะเบียนเตือน ต้องมีพื้นสีเหลืองขอบสีดำและตัวหนังสือหลักที่แสดงบนพื้นป้ายฯ ต้องเป็นสีดำ ใช้แขวนเตือนที่อุปกรณ์ เครื่องมือหรือที่สวิทซ์ควบคุมเครื่องจักรเพื่อให้ปฏิบัติตามข้อความที่กำหนด หากมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามฯ อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ หากเกิดอุบัติเหตุ ระดับผลกระทบที่ตามมาต้องอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ตัวอย่างเช่น หากเกิดอุบัติเหตุกับคน ยอมรับได้แค่ระดับบาดเจ็บจากการทำงาน (work injury) หากสูงกว่านี้เช่น ต้องหยุดงานเกินหนึ่งวันหรือหยุดหนึ่งกะทำงาน ต้องบำบัดทางการแพทย์ สูญเสียอวัยวะหรือตาย ถือว่าเป็นระดับที่ยอมรับไม่ได้ (loss time injury, medical treatment injury, near miss fatality or fatality)

ป้ายทะเบียนอันตรายและการใช้งาน danger tag

ลักษณะของป้ายทะเบียนอันตราย มีรหัสสีหลักเป็นสีขาวกับสีแดง ส่วนข้อความจะเป็นสีอื่นก็ได้ ใช้แขวนห้ามที่อุปกรณ์ เครื่องมือหรือที่สวิทซ์ควบคุมเครื่องจักรเพื่อให้ปฏิบัติตามข้อความที่กำหนด หากมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามฯ อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุซึ่งระดับผลกระทบที่ตามมาจะสูงกว่าระดับที่ยอมรับได้ ตัวอย่างเช่น บาดเจ็บถึงขั้นหยุดงานเกินหนึ่งวันหรือหยุดหนึ่งกะทำงาน ต้องบำบัดทางการแพทย์ สูญเสียอวัยวะ บุคคลเสียชีวิต หรือเสียชีวิตคราวละมากกว่าหนึ่งคน (loss time injury, medical treatment injury, near miss fatality or fatality)

ป้ายทะเบียนบอกสถานภาพและการใช้งาน inspection tag, information tag

ลักษณะป้ายทะเบียนบอกสถานภาพ ควรหลีกเลี่ยงรหัสสีไม่ให้ซ้ำกับรหัสสีของป้ายทะเบียนเตือน หรือไม่ซ้ำกับรหัสสีของป้ายทะเบียนอันตราย ใช้แขวนเพื่อบอกสถานขณะนั้นของอุปกรณ์ เครื่องมือหรือที่สวิทซ์ควบคุมเครื่องจักร หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุและเกิดผลกระทบกับงาน กระบวนการธุรกิจหรือชื่อเสียงขององค์กร เช่นประสิทธิภาพของงานต่ำลง งานล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด ลูกค้าขาดความเชื่อถือ ยอดสั่งซื้อลดลง ฯลฯ เป็นต้น (ป้ายทะเบียนกลุ่มนี้ ส่วนมากจะใช้ควบคุมผลกระทบที่อาจเกิดกับทรัพย์สินหรือเกิดความเสียหายกับกระบวนการธุรกิจ มากกว่า หมายถึงไม่แนะนำให้ใช้กับการควบคุมอันตรายที่อาจเกิดกับคน) ตัวอย่างเช่น

    • ก๊าซออกซิเจนถังเต็ม oxygen-full cylinder
    • ก๊าซอะเซทีลีนถังเปล่า acetylene-empty cylinder
    • อนุญาตใช้งานนั่งร้าน scaffolding permit tag
    • กำลังเดินเครื่องใช้งานเครื่องจักร machine in service ฯลฯ เป็นต้น 

ป้ายทะเบียนอนุญาตบุคคลและการใช้งาน custom quick ship tag

ลักษณะของป้ายทะเบียนอนุญาตบุคคล รหัสสีไม่ได้ถูกกำหนดไว้ชัดเจน แต่โดยปกติจะไม่ใช้รหัสสีซ้ำกับรหัสสีของป้ายทะเบียนเตือน หรือไม่ซ้ำกับรหัสสีของป้ายทะเบียนอันตราย และที่แตกต่างชัดเจนคือต้องมีภาพถ่ายหน้าตรงบุคคลร่วมบนป้ายทะเบียนฯ เสมอ ใช้งานอนุญาตบุคคลเพื่อเข้าในเขต-หรือพื้นที่จำเพาะ ตัวอย่างเช่นอนุญาตบุคคลเข้าพื้นที่ความลับของหน่วยงาน อนุญาตบุคคลเข้าในพื้นที่อันตรายสูง อนุญาตบุคคลใช้เครื่องจักรที่มีลักษณะพิเศษหรือลักษณะอื่นใดที่หน่วยงานกำหนด ฯลฯ  ผู้ที่ได้รับป้ายทะเบียนอนุญาตบุคคลควรผ่านการฝึกอบรมในเรื่องนั้นๆ ก่อนได้รับอนุญาต

       

เครื่องมือกล เครื่องจักร สภาพการทำงานและพลังงานที่ต้องตัดแยกระบบ 
งานปฏิบัติการกับเครื่องจักรอุตสาหกรรม เครื่องจักรโรงงานมี ๔ รูปแบบ
  1. ทำงานกับเครื่องจักร ที่ถูกตัดแยกพลังงานและล็อค-เอาท์ระบบ (full energy isolation and lockout)
  2. ทำงานกับเครื่องจักร ที่ถูกควบคุมให้อุปกรณ์ต้นกำลังหยุด (controlled access)
  3. ทำงานกับเครื่องจักร ที่ถูกควบคุมให้อุปกรณ์ทำงานหยุด (restrict access)
  4. ทำงานกับเครื่องจักรในภาวะเคลื่อนที่หรือทำงานกับเครื่องจักรในภาวะที่เครื่องจักรไม่ถูกตัดแยกพลังงาน (working on live equipment)

บันทึกเพิ่มเติม : เอกสารส่วนนี้ จะอธิบายในกรอบการทำงานกับเครื่องจักรที่ถูกตัดแยกพลังงานและล็อค-เอาท์ระบบ (full energy isolation and lockout) เท่านั้น ส่วนการทำงานในรูปแบบอื่นๆ จะนำเสนอในส่วนถัดไป
ประเด็นพิจารณาสำหรับงานปฏิบัติการอุตสาหกรรมหรือปฏิบัติการโรงงาน คือจะตัดแยกอุปกรณ์กลุ่มใดบ้างและมีลำดับก่อนหลังอย่างไร-สามส่วนที่ต้องควบคุมอันตรายและต้องตัดแยกอุปกรณ์หรือเครื่องจักร

  • เครืองจักรที่จะเข้าไปทำงาน
  • เครื่องจักรแวดล้อมซึ่งอาจเป็นอันตรายกับผู้ปฏิบัติงาน
  • ปิดกั้น ควบคุมพื้นที่ปฏิบัติงาน (ซึ่งการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน /และกฎหมายไทย เรียกว่าเขตอันตราย)

เครื่องจักรที่เข้าไปทำงานคือเครื่องจักรเป้าหมายสำหรับ ซ่อม แก้ไขหรือดัดแปลงสภาพ ส่วนเครื่องจักรแวดล้อมหมายถึงเครื่องจักรซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกันหรืออยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับเครื่องจักรเป้าหมายที่จะเข้าไปซ่อมฯ ซึ่งเมื่อเข้าไปทำงานกับเครื่องจักรที่เป็นเป้าหมายอาจเป็นอันตรายกับผู้ปฏิบัติงาน เครื่องจักรทั้งสองส่วนนี้ จึงต้องระบุว่าต้องตัดแยกพลังงานหรือควบคุมอันตรายอย่างไร ทั้งนี้ต้องบันทึกจุดตัดแยกหรือวิธีควบคุมอันตรายในแบบฟอร์มให้ชัดเจน ก่อนเข้าไปทำงาน

การปิดกั้น ควบคุมพื้นที่ปฏิบัติงานให้พิจารณาใช้อุปกรณ์ที่เป็นแถบกั้นหรือธงริ้ว รั้วแข็ง สัญลักษณ์ความปลอดภัยและป้ายทะเบียนความปลอดภัย (soft barricade, hard barricade, safety sign, safety tag) อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกันมาพิจารณาปิดกั้นควบคุมพื้นที่ โดยให้พิจารณาปิดกั้นควบคุมพื้นที่แบบรอบทิศทางคือ ตามแนวราบด้านซ้าย ขวา หน้า หลังและตามแนวดิ่งบน ล่าง (abbi=above-behind-below and inside)


กรณีศึกษา ต้องการซ่อมชุดต้นกำลังไฮดรอลิค ซึ่งอยู่ใกล้สายพานลำเลียง ๑๒๐ เซนติเมตร ด้านบนมีเครนรางเลื่อนไฟฟ้า ขนย้ายชิ้นงานเพื่อวางบนสายพานลำเลียง ให้ศึกษากลุ่มย่อยและหาข้อสรุปในลำดับแรก ดังเงื่อนไขต่อไปนี้

  • เครื่องจักรใด เป็นเครื่องจักรที่จะเข้าไปทำงาน
  • ระบุชื่อเครื่องจักรแวดล้อม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอันตรายกับผู้ปฏิบัติงาน
  • เครื่องจักรที่จะเข้าไปทำงานและเครื่องจักรแวดล้อม จะตัดแยกพลังงาน ล็อค-เอาท์ระบบหรือจะควบคุมอันตรายอย่างไร
  • ต้องปิดกั้นควบคุมพื้นที่อย่างไร จึงจะถูกต้องตามหลักการ abbi (การปิดกั้นควบคุมพื้นที่แบบรอบทิศทาง)

แนวทางตอบคำถาม กรณีศึกษา
  • แนวทางตอบคำถามที่หนึ่ง : เครื่องจักรที่จะเข้าไปทำงานคือชุดต้นกำลังไฮดรอลิค
  • แนวทางตอบคำถามที่สอง : สายพานลำเลียงและเครนรางเลื่อนไฟฟ้า เป็นเครื่องจักรแวดล้อมซึ่งอาจเป็นอันตรายกับผู้ปฏิบัติงาน
  • แนวทางตอบคำถามที่สาม : เครื่องจักรที่จะเข้าไปทำงานและเครื่องจักรแวดล้อมต้องตัดแยกพลังงานและล็อค-เอาท์ระบบดังนี้

เครื่องจักรที่จะเข้าไปทำงาน : ตัดแยกพลังงานและล็อคเอาท์ โดยควบคุมอุปกรณ์ทำงานเช่น ชุดกระสูบสูบกลับที่ตำแหน่งเตรียมหยุด (home position) หลังจากนั้นให้ตัดแยกเบรกเกอร์ไฟฟ้าของปั้มไฮดรอลิคและล็อคเบรกเกอร์ ด้วยกุญแจสี

สายพานลำเลียง : ให้เลือกวิธีหยุดการใช้งาน ตัดแยกพลังงานและล็อค-เอาท์ชุดมอเตอร์ขับ เป็นลำดับแรก, หากเป็นไปไม่ได้ ซึ่งหมายถึงหากหยุดสายพานลำเลียงจะส่งผลกระทบสูงกับกระบวนการทำงานก็ให้ขออนุญาตเข้าทำงานเพื่อติดตั้งรั้วแข็ง กั้นระหว่างสายพานลำเลียงกับต้นกำลังไฮดรอลิค ซึ่งรั้วแข็งที่ติดตั้งนี้ต้องเป็นรั้วทึบหรือตะแกรงตาเล็กมือเท้าของผู้ปฏิบัติงานสอดผ่านไม่ได้

เครนรางเลื่อนไฟฟ้า : ให้เลือกวิธีหยุดการใช้งาน ตัดแยกพลังงานและล็อค-เอาท์ชุดมอเตอร์ขับเคลื่อนเครนตามแนวราง เป็นลำดับแรก, หากเป็นไปไม่ได้ ซึ่งเครนรางเลื่อนไฟฟ้าต้องทำงานหลายกิจกรรม หากหยุด ตัดแยกเบรกเกอร์และล็อค-เอาท์จะส่งผลกระทบสูงกับกระบวนการทำงาน ก็ให้ปฏิบัติดังนี้

    • ประชุมร่วมระหว่างหัวหน้ากลุ่มงาน (job leader) ผู้กำกับดูแลงานซ่อมชุดต้นกำลังไฮดรอลิกส์ กับหัวหน้างานของพนักงานบังคับเครนและพนักงานบังคับเครน เพื่อไม่ให้บังคับเครนเข้าใกล้พื้นที่ซ่อมต้นกำลังไฮดรอลิกส์ ในระยะห้าเมตร (ใช้กฎห้าเมตร five meter rule)
    • ที่อุปกรณ์บังคับเครน ให้แขวนป้ายทะเบียนแท๊ก (safety tag) ระบุข้อความในป้ายทะเบียน ห้ามบังคับเครนเข้าใกล้พื้นที่ซ่อมบำรุงต้นกำลังไฮดรอลิกส์ ในระยะห้าเมตร

  • แนวทางตอบคำถามที่สี่ : วิธีปิดกั้น ควบคุมพื้นที่ปฏิบัติงานตามหลักการ abbi (การปิดกั้นควบคุมพื้นที่แบบรอบทิศทาง) ให้ปิดกั้นควบคุมพื้นที่ด้วยแถบกั้นอันตราย ขาว-แดง ระยะห่างสองเมตร สี่ด้านรอบชุดต้นกำลังไฮดรอลิค

บันทึกเพิ่มเติม : กรณีไม่หยุด ไม่ตัดแยกหรือไม่ล็อค-เอาท์เบรกเกอร์ของชุดขับสายพานลำเลียง พื้นที่ระหว่างชุดต้นกำลังไฮดรอลิคกับสายพานลำเลียงให้ติดตั้งรั้วแข็ง ส่วนอีกสามด้าน ให้ปิดกั้นด้วยแถบกั้นอันตราย ขาว-แดง ในระยะสองเมตรโดยรอบ

งานฝึกอบรม  แปลเอกสารเซฟตี้  งานที่ปรึกษาจัดทำระบบ lockout tagout : บริษัท เอเซีย แสงตะเกียง จำกัด (ASSA)  Tel 093 7719222  E-mail : sangtakieng@gmail.com
 

กลับหน้าแรกคลิ๊กตรงนี้
ตอนที่หนึ่ง ความเข้าใจการตัดแยกพลังงาน ล็อคเอาท์ระบบ : คลิ๊กตรงนี้
ตอนที่สาม ขั้นตอนตัดแยกพลังงานและล็อคเอาท์ แท๊กเอาท์ : คลิ๊กตรงนี้
ตอนที่สี่ การตัดแยกระบบและขออนุญาตทำงาน : คลิ๊กตรงนี้ 
ตอนที่ห้า วิธีจัดทำคู่มือคำแนะนำ (WI) แนบใบขออนุญาตเข้าทำงาน : คลิ๊กตรงนี้
ตอนที่หก มาตรการควบคุมอุบัติเหตุในงานปฏิบัติการ  : คลิ๊กตรงนี้
ตอนที่เจ็ด การจัดทำระบบล็อคเอาท์ แท๊กเอาท์ในสถานประกอบกิจการ : คลิ๊กตรงนี้ 
  
MENU
 
WEB LINK
 
VISIT
 สถิติวันนี้ 10 คน
 สถิติเมื่อวาน 254 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
3292 คน
55438 คน
937490 คน
เริ่มเมื่อ 2012-10-14
 
Copyright (c) 2006 by Ronnarong