Sangtakieng.com

ศรคีรี ศรีประจวบ นักร้องเพลงหวานจากบางคณที
รณรงค์ แสงตะเกียง : รวบรวม เรียบเรียง

ศรคีรี ศรีประจวบ-เป็นนักร้องลูกทุ่งชื่อดังระดับตำนานของวงการลูกทุ่งไทย จากน้ำเสียงที่หวานหยด จนได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นราชาเพลงหวานหนึ่งเดียวของประเทศ แม้เขาจะบันทึกงานเพลงไว้ค่อนข้างน้อย แต่เกือบทุกเพลงก็เป็นที่ติดหูผู้ฟังกระทั่งปัจจุบัน เพลงของเขาถูกนักร้องรุ่นหลัง หยิบมาบันทึกเสียงใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า แม้ตัวเขาจากโลกนี้ไปหลายสิบปีก็ตาม

                 

ประวัติ-ศรคีรีเล่าถึงประวัติของตัวเองเมื่อ พศ. ๒๕๑๕ ไว้ว่า เขาเกิดที่บ้านเลขที่ ๑๓ บ้านหนองอ้อ ตำบลบางกระบือ อำเภอบางคณที สมุทรสงคราม พ่อชื่อมั่ง แม่ชื่อเชื้อ เป็นคนสุดท้องในพี่น้องทั้งหมด ๖ คน ชื่อจริงศรชัย (น้อย) ทองประสงค์ เกิดวันที่ ๔ มีนาคม ๒๔๘๗ เรียนจบ ป. ๔ที่โรงเรียนพรหมสวัสดิ์สาธร จบมาก็ช่วยแม่ปาดตาลมะพร้าวปีนต้นตาลทุกวัน เมื่อเหนื่อยก็หยุดพักบนยอดตาล เพื่อไม่ให้เสียเวลาก็ร้องเพลงบนยอดตาล เมื่อหายเหนื่อยค่อยทำงานต่อ เพลงที่ชอบร้องก็มีเสือสำนึกบาป ชายสามโบสถ์ ตอนนั้นเพลงของคำรณ สัมบุณนานนท์ดังมาก ตอนนั้นอยากเป็นนักร้องใจแทบขาด เวลาวงดนตรีของครูพยงค์ มุกดา มาแสดงใกล้บ้าน ก็จะไปสมัครและร้องเพลงให้ครูพยงค์ฟัง ครูบอกว่าให้ไปหัดร้องมาใหม่ พยายามอยู่สองครั้งก็ไม่ดีขึ้น เป็นอันเลิกไปเอง ครั้งอายุ ๒๐ ปี บวชได้พรรษาหนึ่งก็สึก พ่อแม่ไปซื้อไร่ที่อำเภอปราณบุรี ประจวบคีรีขันธุ์ ก็เลยลงเอยที่ทำไร่สับปะรด
ประวัติอีกกระแสบอกว่า เพราะรักครั้งแรกเป็นพิษขณะบวช เมื่อว่าที่พ่อตาให้ลูกสาวแต่งงานกับชายอื่น จึงเตลิดออกจากบ้านมาอยู่กับพี่ชายที่ประจวบคีรีขันธ์ โดยพี่ชายแบ่งไร่สับปะรดให้ทำ

ที่นี่ ศรคีรีเริ่มร้องเพลงอีกครั้ง โดยเข้าประกวดฯ ตามงานวัดและคว้ารางวัลมากมาย ต่อมาเพื่อนชื่อพยงค์ วงศ์สัมพันธ์ มาชวนให้ร่วมวงด้วย ซึ่งพยงค์ได้เช่าเครื่องฯ และจ้างครูดนตรีจากค่าย ธนะรัตน์มาสอน เดิมเพื่อความสนุกในหมู่บ้านและเมื่อคนรู้จักมากขึ้น จึงตั้งชื่อเป็นวง "รวมดาววัยรุ่น" และเปลี่ยนเป็น "รวมดาวเมืองปราณ" รับงานแสดงทั่วไปโดยไม่คิดเงินทอง ตอนนั้นศรคีรีร้องเพลงแบบรำวงใช้ชื่อ "พนมน้อย" เพราะร้องเพลงของพนม นพพรและศักดิ์ชาย วันชัย ครั้นไปแสดงงานปีใหม่ของจังหวัด "ประหยัด สมานมิตร" ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ฟังเสียงเมื่อเห็นหน้าก็ชอบพอ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ศรคีรี ศรีประจวบ แต่นั้นมา
จากนั้นวิจิตร ฤกษ์ศิลป์วิทยา คนบ้านใกล้ให้การสนับสนุน วงก็แข็งแรงมากขึ้น พากันเข้ากรุงเทพฯ เช่ารายการวิทยุยานเกราะจากจำรัส วิภาตะวัธ วิ่งล่องกรุงเทพ ประจวบฯ อยู่บ่อย ก็ได้พบกับเพลิน พนาวัลย์ ซึ่งเพลินฯ พาไปพบครูไพบูลย์ บุตรขันธ์ที่บ้าน ตามที่ศรคีรีร้องขอ

โด่งดัง-ภูพาน เพชรปฐมพร นักร้องที่ใกล้ชิดกับศรคีรีในวงรวมดาววัยรุ่นเล่าว่า ตอนไปขอเพลง ตอนนั้นครูฯ มีนักร้องที่ดังมากคือรุ่งเพชร แหลมสิงห์เป็นลูกศิษย์อยู่ ศรคีรีก็ร้องเพลงแนวเดียวกัน ครูไพบูลย์ก็ไม่ให้ ต้องเทียวไปเทียวมาอยู่หลายครั้งจนครูใจอ่อน เพลงแรกที่ได้มาคือน้ำท่วม ตอนที่บันทึกเสียง น้ำท่วมประจวบคีรีขันธ์เสียหายอย่างมาก สับปะรดถูกน้ำท่วมทั้งหมด จากนั้นครูก็ให้มาอีกสามเพลง คือบุพเพสันนิวาส แม่ค้าตาคมและวาสนาพี่น้อย การบันทึกเสียงชุดแรกนั้นมีทั้งหมด ๖ เพลง คือน้ำท่วม บุพเพสันนิวาส วาสนาพี่น้อย แม่ค้าตาคม พอหรือยังและบางช้าง งานนี้ศรคีรีฯ เปลี่ยนจากนักร้องเพลงรำวง มาเป็นนักร้องเพลงหวานโดยสมบูรณ์
หลังจากเพลงเริ่มเป็นที่รู้จัก ศรคีรีขึ้นมาอยู่กรุงเทพฯ แต่ยังไม่นำวงดนตรีมาด้วย โดยจะนำมาก็แต่เมื่อมีงาน ครั้งแรกในกรุงเทพฯ เขาเปิดการแสดงงานศพน้องชายครูไพบูลย์ที่วัดหลักสี่ บางเขน จากนั้นวงก็เริ่มรับงานในกรุงเทพฯ และเดินสายทั่วประเทศ การออกเดินสายใต้เป็นครั้งแรก วงประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จัดว่าเป็นวงที่มีค่าตัวแพงวงหนึ่ง ช่วงนั้นศรคีรีได้มีโอกาสแสดงหนังของครูรังสี ทัศนพยัคฆ์เรื่อง "มนต์รักจากใจ" ด้วย
ต่อมามีชื่อเข้าไปพัวพันคดีสังหารคนในวงการด้วยกัน ชื่อเสียงจึงตกลงไปบ้าง แต่ในที่สุดก็พิสูจน์ตัวเองได้และกลับมาอีกครั้งในเพลงตะวันรอนที่หนองหาร อยากรู้ใจเธอ รักแล้งเดือนห้า ลานรักลั่นทมและคิดถึงพี่ไหม เพลงหลังนี้ขณะบันทึกเสียงศรคีรีร้องโดยปิดไฟมืด ซึ่งเขาไม่เคยทำมาก่อน คิดถึงพี่ไหมแต่งโดยพยงค์ มุกดา โดยทิว สุโขทัยเคยร้องไว้เป็นคนแรกและเสียชีวิตไปก่อนหน้า และเป็นเพลงสุดท้ายที่ศรคีรีได้บันทึกเสียงเอาไว้

ลาลับ-ก่อนเสียชีวิต ศรคีรีไปเปิดแสดงที่โรงหนังเอกมัยราม่า มีคนนำเอาพวงมาลัยดอกไม้สด คาดด้วยผ้าดำแบบที่ทำไว้สำหรับคนตายมอบให้บนเวที ศรคีรีรับไว้ด้วยความเกรงใจ เมื่อกลับเข้าหลังเวที ศรคีรีสั่งเลิกการแสดงคืนนั้นทันทีทั้งที่ร้องเพลงได้เพียงห้าเพลง
ด้วยวัยแค่ ๓๒ ปี ศรคีรีฯ จากโลกนี้ไปเมื่อ ๓๐ มกราคม ๒๕๑๕ ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ ในเวลาไม่แน่นอน ประมาณ ๐๓.๐๐-๐๕๐๐ นาฬิกา บริเวณริมถนนพหลโยธิน ตำบลอ่างทอง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ขณะเดินทางกลับจากการแสดงที่วัดหน้าพระธาตุ อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ กลับเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเปิดแสดงที่วัดภาษีเอกมัยในตอนค่ำ คาดว่าคนขับรถของศรคีรีเกิดง่วงนอน จึงจอดรถเก๋งโตโยต้าคราวน์ข้างทางเพื่อพักสักงีบ แต่ปรากฏว่ารถบรรทุกไม้ วิ่งมาด้วยความเร็ว เมื่อถึงสะพานก็ทำให้รถกระโดดเสียหลัก ขึ้นไปทับรถของศรคีรี ทำให้เขาเสียชีวิตคาที่
หลังแสดงวันนั้น ลูกวงได้ออกเดินทางมายังจุดนัดพบที่ปั้มน้ำมันแห่งหนึ่งก่อน แต่หลังจากที่ลูกวงรออยู่นาน หัวหน้าวงยังเดินทางมาไม่ถึง จึงออกเดินทางต่อ แต่วิ่งไปสักระยะหนึ่ง ก็มีรถพลเมืองดีวิ่งไล่ตามและเรียกให้จอด เพื่อแจ้งข่าวเรื่องการประสบอุบัติเหตุของของศรคีรี หลังพบใบปลิวการแสดงปลิวออกจากรถศรคีรีเกลื่อนกลาด หลังรถบัสวิ่งกลับไปก็พบศพดังกล่าว ข้อมูลบางแหล่งบอกว่า ศรคีรี เสียชีวิตประมาณ ๐๘๐๐ นาฬิกา ซึ่งเวลาดังกล่าวน่าจะเป็นเวลาพบศพมากกว่า

ก่อนเสียชีวิต ศรคีรี สมรสแล้วและมีบุตรธิดารวม ๓ คน เป็นชาย ๒ หญิง ๑ ชื่อสมศักดิ์ ชนัญญาและสันติ
ครูไพบูลย์ บุตรขันธ์ เคยเขียนไว้อาลัยการจากไปของศรคีรีว่า แด่สุดรัก เธอเกิดมาเป็นผู้กล่อมโลก ฉันเป็นผู้ถ่ายทอดอารมณ์ บัดนี้เธอจากไปแล้วเหลือเพียงเสียงเพลง ศรคีรี ศรีประจวบ ฉันเสียดาย เสียดายจริงๆ เพราะเธอควรจะอยู่กล่อมโลกให้นานกว่านี้

ผลงานเพลงดัง-ศรคีรี ศรีประจวบ บันทึกผลงานเพลงเอาไว้บางส่วน ดังนี้
๑.ฝนตกฟ้าร้อง (ไพบูลย์ บุตรขันธ์)
๒.วาสนาพี่น้อย (ไพบูลย์ บุตรขันธ์)
๓.ขี่เหร่ก็รัก (ไพบูลย์ บุตรขันธ์)
๔.บุพเพสันนิวาส (ไพบูลย์ บุตรขันธ์)
๕.แม่ค้าตาคม (ไพบูลย์ บุตรขันธ์)
๖.น้ำท่วม (ไพบูลย์ บุตรขันธ์)
๗.แล้งน้ำใจ (พยงค์ มุกดา)
๘.ดอกรักบานแล้ว (ไพบูลย์ บุตรขันธ์)
๙.หนุ่มนาบ้ารัก (ไพบูลย์ บุตรขันธ์)
๑๐.ทุ่งรัก (ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา)
 
๑๑.พอหรือยัง (ชลธี ธารทอง)
๑๒.บางช้าง (ศรคีรี ศรีประจวบ) เพลงแก้คือ สาวบางช้าง-ขวัญดาว จรัสแสง
๑๓.หวานเป็นลมขมเป็นยา (สำเนียง ม่วงทอง)
๑๔.เฝ้าดอกฟ้า (ไพบูลย์ บุตรขันธ์)
๑๕.หนาวลมเรณู (สุรินทร์ ภาคศิริ) สนธิ สมมาตร์ เคยนำมาร้อง
๑๖.ตะวันรอนที่หนองหาร (พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา)
๑๗.เสียงขลุ่ยบ้านนา (เกษม สุวรรณเมนะ) สายัณห์ สัญญา เคยนำมาร้องแต่เปลี่ยนชื่อเพลงเป็นเสียงขลุ่ยเรียกนาง เพลงแก้คือมนต์ขลังเสียงขลุ่ย-วันเพ็ญ เดือนเต็มดวง
๑๘.มนต์รักแม่กลอง (ไพบูลย์ บุตรขันธ์)
๑๙.หนุ่มกระเป๋า (ไพบูลย์ บุตรขันธ์) 
๒๐.รักแล้งเดือนห้า (ไพบูลย์ บุตรขันธ์)
 
๒๑.ลานรักลั่นทม (ไพบูลย์ บุตรขันธ์)
๒๒.รักจากใจ (สำเนียง ม่วงทอง)
๒๓.ไปให้พ้น (สมนึก ปราโมทย์)
๒๔.คนมีเวร (สงเคราะห์ สมัตภาพงษ์)
๒๕.อยากรู้ใจเธอ (ไพบูลย์ บุตรขันธ์)
๒๖.เข็ดแล้ว (ไพบูลย์ บุตรขันธ์)
๒๗.พระอินทร์เจ้าขา (ไพบูลย์ บุตรขันธ์) เพลงแก้คือเทวดาเจ้าคะ-เตือนใจ บุญพระรักษา
๒๘.คิดถึงพี่ไหม (พยงค์ มุกดา) เพลงแก้คือ น้องคิดถึงพี่-ขวัญดาว จรัสแสง
๒๙.ทุ่งสานสะเทือน (พยงค์ มุกดา) 
๓๐.เสียงซุงเว้าสาว (ไพบูลย์ บุตรขันธ์)
 
๓๑.รักเธอหมดใจ (ไพบูลย์ บุตรขันธ์)
๓๒.กล่อมนางนอน (ไพบูลย์ บุตรขันธ์)
๓๓.แม่กระท้อนห่อ (พยงค์ มุกดา)
๓๔.หนุ่มนา (พยงค์ มุกดา)

กลับหน้าแรก : คลิ๊กตรงนี้
กลับเมนูหลัก ๗๐ ปีเพลงลูกทุ่งไทย ฤาถึงยุคแห่งกาลล่มสลาย : คลิ๊กตรงนี้
สุรพล สมบัติเจริญ ราชาเพลงลูกทุ่งผู้ไม่มีวันตาย : คลิ๊กตรงนี้
บุปผา สายชล ราชินีเพลงลูกทุ่งภาคตะวันออก : คลิ๊กตรงนี้
ชาตรี ศรีชล ขุนพลเพลงลูกทุ่งเลือดน้ำเค็ม : คลิ๊กตรงนี้
ระพิณ ภูไท สามล้อรับจ้างสู่จุดสูงสุดของชีวิตบนเส้นทางเพลงลูกทุ่ง : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ชายธง ทรงพล ปูไก่ไข่หลงแบบฉบับคนรูปหล่อ (ไม่เสร็จ) : คลิ๊กตรงนี้

 

  
MENU
 
WEB LINK
 
VISIT
 สถิติวันนี้ 10 คน
 สถิติเมื่อวาน 130 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
3871 คน
20861 คน
902913 คน
เริ่มเมื่อ 2012-10-14
 
Copyright (c) 2006 by Ronnarong