Sangtakieng.com
สุรพล สมบัติเจริญ ราชาเพลงลูกทุ่งผู้ไม่มีวันตาย
รณรงค์ แสงตะเกียง : รวบรวม เรียบเรียง

       

สุรพล สมบัติเจริญ เดิมชื่อลำดวน สมบัติเจริญ เกิดเมื่อวันจันทร์วันที่ ๒๕ กันยายน พศ. ๒๔๗๓ ที่บ้านเลขที่ ๑๒๕ ถนนนางพิม อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งเจ้าของเพลงดัง "๑๖ ปีแห่งความหลัง" ถูกยิงเสียชีวิต หลังจากการแสดงบนเวทีที่วัดหนองปลาไหล อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พศ. ๒๕๑๑

ลำดวน สมบัติเจริญ มีฐานะทางครอบครัวค่อนข้างดี คุณพ่อชื่อเปลื้อง สมบัติเจริญ รับราชการอยู่แผนกสรรพากรจังหวัดสุพรรณบุรี คุณแม่ชื่อวงศ์ เป็นแม่บ้านและค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ภายในบ้านกลางใจเมืองสุพรรณบุรี
เป็นลูกคนที่ ๒ ในจำนวนพี่น้องทั้งหมดหกคน เป็นพี่คนที่สองจากผู้ชาย ๔ คน ผู้หญิง ๒ คน เรียงตามลำดับจากอุดม, ลำดวน(สุรพล)เสียชีวิตแล้ว, จินดา, เฉลียว(เสียชีวิตแล้ว),ไสวและสมาน(เสียชีวิตแล้ว)

หลังจบระดับชั้นประถมจากโรงเรียนประสาทวิทย์ ก็เรียนต่อที่โรงเรียนกรรณสูตรศึกษาลัยกระทั่งจบมัธยมปีที่ ๖, จากนั้นคุณพ่อก็ส่งให้สุรพลเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย กรุงเทพฯ ด้วยใจไม่รักที่จะเรียนด้านนี้ เรียนได้เพียงปีครึ่งก็ลาออกและกลับบ้านไปสมัครเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนสุพรรณกงลิเสียเสี้ยว เป็นโรงเรียนจีน สอนอยู่ได้ครึ่งปีก็ลาออก ด้วยใจไม่ได้รักอาชีพนี้อย่างจริงจัง
ต่อมาสมัครเข้าเป็นทหารอยู่ที่โรงเรียนจ่าทหารเรือ (กรมแพทย์ทหารเรือ) แผนกทหารหมอ, เคยหนีราชการและได้รับโทษถูกคุมขัง ช่วงอยู่ในคุกเขาได้กลายเป็นขวัญใจของนักโทษ ด้วยการร้องเพลงกล่อมก่อนนอน
จากนั้นไม่นานก็ละทิ้งเส้นทางทหารเรือ และได้มีโอกาสร้องเพลงในงานสังสรรค์กองทัพอากาศ น้ำเสียงของเขาโดนใจหัวหน้าคณะนักมวยเลือดชาวฟ้า อย่างเรืออากาศตรีปราโมทย์ วรรณพงษ์, เรืออากาศตรีปราโมทย์จึงเรียกตัวเข้าไปพบในวันรุ่งขึ้น และให้โอกาสสุรพลย้ายไปเป็นนักร้องประจำกองดุริยางค์ทหารอากาศ

ที่กรมช่างอากาศโยธิน กองทัพอากาศดอนเมืองนี่เอง เขาได้เปลี่ยนชื่อจากลำดวนเป็นสุรพล สมบัติเจริญ โดยเริ่มรับข้าราชการประจำกองดุริยางค์ทหารอากาศยศจ่าอากาศตรี ต่อมาก็ได้เลื่อนยศเป็นจ่าอากาศโทและจ่าอากาศเอกตามลำดับ

พศ. ๒๔๙๖ ได้บันทึกเสียง เพลงน้ำตาสาวเวียงเป็นเพลงแรก แต่เพลงที่ทำให้สุรพล สมบัติเจริญเป็นที่รู้จักของแฟนเพลงคือชูชกสองกุมาร จากนั้นชื่อเสียงของสุรพลก็เป็นที่นิยมมากขึ้น และมีผลงานชุดใหม่ออกมาเรื่อยๆ เช่นสาวสวนแตง เป็นโสดทำไม ของปลอม หนาวจะตายอยู่แล้ว หัวใจผมว่าง สาวจริงน้อง ขันหมากมาแล้ว น้ำตาจ่าโท มองและอีกหลายผลงานเพลง ฯลฯ
ผู้คนรู้จักความเป็น สุรพล สมบัติเจริญ อย่างแท้จริงจากบทเพลง "ลืมไม่ลง" สุรพลมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป มีงานร้องเพลงนอกสังกัดถี่ขึ้นเป็นลำดับ อาทิร่วมร้องกับวงแมมโบ้ร็อค ของเจือ รังแรงจิตร,  วงบางกอกช่ะช่ะช่ะ ของชุติมา สุวรรณรัตน์ และสมพงษ์ วงษ์รักไทย ส่วนวงดนตรีที่สุรพลร้องด้วยมากที่สุดคือวงชุมนุมศิลปินของจำรัส วิภาตะวัตร

       

ชีวิตครอบครัว-แต่งงานกับศรีนวล ตันฒวานิช มีบุตรธิดา ๕ คน เรียงตามลำดับคือสมพงษ์, สุรชัย, ศิรินทิพย์, สุรชาติและสุรเดช สมบัติเจริญ
นิสัยร่าเริง เป็นคนเจ้าระเบียบ ตระหนี่ ไม่ถือตัว รักเสียงเพลง แต่งตัวตามสบายผ้าขาวม้าคาดพุง รองเท้าแตะ ชอบการแต่งเพลงเป็นชีวิตจิตใจ สูบบุหรี่เกล็ดทองสั้น ชอบกีฬาสนุกเกอร์, บิลเลียด (ใส่หมวกปิดหน้า) 
อาหารโปรด-อาหารไทยน้ำพริก แกงส้ม ปลาเค็ม ไก่ เนื้อเค็ม ขนมปลากริมไข่เต่า บัวลอยไข่หวาน โอเลี้ยง ลูกอมฮอลล์ขาว

เปิดวงครั้งแรก ต้นปี พศ.๒๕๐๒ ที่วัดโชติทายการาม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี โดยมีนักร้องรุ่นแรกที่เป็นเพื่อนกัน คือก้าน แก้วสุพรรณ, ยงยุทธ เชี่ยวชาญชัย, ผ่องศรี วรนุช, วันทนา สังข์กังวานและเพ็ญแข ฉิมคล้าย

ผลงานน้ำตาลาวเวียงเป็นเพลงแรกที่บันทึกเสียง พศ. ๒๔๙๖ ชูชกสองกุมารเพลงดังเพลงแรก พศ. ๒๔๙๖, โดดร่มเพลงดังในหมู่ทหารอากาศ, ลืมไม่ลง (ไม่ลืม)...เพลงดังทั่วประเทศ, แน่ข้างเดียว...เพลงสุดท้ายที่บันทึกเสียง พศ. ๒๕๑๑

       
       

สุรพลได้รับการยอมรับว่าเป็นราชาเพลงลูกทุ่ง เพราะความอัจฉริยะในตัวเองที่มีความสามารถทั้งแต่งเพลงเอง ร้องเอง หลายเพลงยังอยู่ในความรู้สึกและความทรงจำของมิตรรักแฟนเพลง อาทิลืมไม่ลง, ดำเนินจ๋า, แซ่ซี้อ้ายลื้อเจ๊กนั้ง, หัวใจเดาะ, สาวสวนแตง, น้ำตาจ่าโท, สนุกเกอร์, นุ่งสั้น, ผ่าไฟแดง, เสน่ห์บางกอก และเพลง ๑๖ ปีแห่งความหลัง ฯลฯ
นอกจากแต่งเพลงเอง ร้องเอง สุรพลยังทำหน้าที่ครูแต่งเพลงให้นักร้องลูกทุ่งและนักร้องลูกกรุงคนอื่นร้องจนโด่งดังอีกด้วย อย่างเช่น ผ่องศรี วรนุช, ไพรวัลย์ ลูกเพชร, ละอองดาว สกาวเดือน, ยงยุทธ เชี่ยวชาญชัยและเมืองมนต์ สมบัติเจริญ

เพลงลูกกรุงที่แต่งไว้อาทิ...หรีดรัก สุเทพ วงศ์กำแหง ขับร้อง, รอยบาปบนดวงใจ นริศ อารี ขับร้อง, ครั้งนี้มิใช่เพียงครั้งเดียว ลัดดา ศรีวรนันท์ ขับร้อง ฯลฯ

เกียรติยศ ๓ มีนาคม ๒๕๐๙ ชนะเลิศ การประชันวงดนตรีครั้งยิ่งใหญ่ของวงการเพลงลูกทุ่ง ที่วัดสนามไชยราษฎร์ศรัทธาธรรม (วัดสนามไชย) อำเภอดำเนินสะดวก ราชบุรี ซึ่งมีการประชันกันวงดนตรี ๔ วงคือ
1.  วงสุรพล สมบัติเจริญ
2.  วงรวมดาวกระจาย
3.  วงสมานมิตร เกิดกำแพง
4.  วงเทียนชัย สมยาประเสริฐ

เพลงสุดท้ายที่ "สุรพล สมบัติเจริญ" ร้องกล่อมแฟนเพลงก่อนลงจากเวทีคือเพลง ๑๖ ปีแห่งความหลัง สุรพลแต่งให้กับศรีนวล สมบัติเจริญ ภรรยาที่มีเรื่องระหองระแหงและกำลังจะแยกทางกันเดิน, หลังจากก้าวพ้นเวที ที่หน้าวิกแสงจันทร์ วัดหนองปลาไหล อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ได้ไม่ถึงอึดใจ คนร้ายไม่ทราบจำนวนก็กระหน่ำยิงสุรพลด้วยอาวุธปืนพกขนาด ๑๑ มม. ในเวลา ๐๑.๐๐ นาฬิกาของคืนวันที่ ๑๖ สิงหาคม พศ. ๒๕๑๑, รวมอายุ ๓๗ ปี ๑๐ เดือนกับอีก ๒๓ วัน
สุรพล สมบัติเจริญ มีผลงานเพลงดังมากมาย ทว่าไม่เคยได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำกับเขาเลย คณะกรรมการตัดสินบอกว่า ออกเสียงไม่ชัดเจน คือยังออกเสียงร้องเป็นภาษาพื้นบ้านของครูฯ เอง จึงทำให้ไม่ได้รับรางวัลใดๆ
อื่นใดหาสำคัญเท่า…กับเสียงเพลงของเขาที่ทิ้งไว้ให้ดังก้องโลก ขับกล่อมผู้ฟังเรื่อยมา จากวันนั้นถึงวันนี้ สุรพล สมบัติเจริญยังคงโลดแล่นบนความรู้สึกและบนจินตนาการของมิตรรักแฟนเพลงใต้ฟ้าเมืองไทย สุรพล…ไม่มีวันตาย, ไม่มีวันตาย…ตราบใดที่เสียงเพลงของเขายังอยู่

กลับหน้าแรก : คลิ๊กตรงนี้
กลับเมนูหลัก ๗๐ ปีเพลงลูกทุ่งไทย ฤาถึงยุคแห่งกาลล่มสลาย : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู บุปผา สายชล ราชินีเพลงลูกทุ่งภาคตะวันออก : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ชาตรี ศรีชล ขุนพลเพลงลูกทุ่งเลือดน้ำเค็ม : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ระพิณ ภูไท สามล้อรับจ้างสู่จุดสูงสุดของชีวิตบนเส้นทางเพลงลูกทุ่ง : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ศรคีรี ศรีประจวบ นักร้องเพลงหวานจากบางคณที : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู ชายธง ทรงพล ปูไก่ไข่หลงแบบฉบับคนรูปหล่อ (ไม่เสร็จ) : คลิ๊กตรงนี้

  
MENU
 
WEB LINK
 
VISIT
 สถิติวันนี้ 160 คน
 สถิติเมื่อวาน 129 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
1849 คน
53995 คน
936047 คน
เริ่มเมื่อ 2012-10-14
 
Copyright (c) 2006 by Ronnarong