Sangtakieng.com
Roles and Responsibilities
บทบาท หน้าทีและความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้องกับงานปฏิบัติการที่อับอากาศ
นำเสนอและงานเขียน เรียบเรียง : รณรงค์ แสงตะเกียง

ความทั่วไป
บทบาท หน้าทีและความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้องฯ ถูกกำหนดไว้แล้วในกฏกระทรวงฯ ที่อับอากาศ (กำลัง update), บนความเป็นจริงพบว่าน้อยครั้งที่นายจ้างจะดำเนินการ ในงานปฏิบัติการใดๆ ด้วยตนเอง คงมอบหมายให้ตัวแทนไปปฏิบัติการเสียเป็นด้านหลัก, เมนูนี้จึงนำกฏกระทรวงดังกล่าวมาพิจารณาและนำเสนอในแง่มุมที่ปฏิบัติได้ง่าย หากแต่เน้นที่ความสมดุลระหว่างความง่ายและความปลอดภัยในงานปฏิบัติการฯ ดังกล่าวด้วย 

ผู้เกี่ยวข้องในงานปฏิบัติการที่อับอากาศ

  • นายจ้างหรือตัวแทนนายจ้าง (Area Owner) 
  • หัวหน้ากลุ่มงาน ภาษากฏหมายเรียกว่าผู้ควบคุมงาน (Job Leader or Job Supervisor) 
  • ผู้ช่วยเหลือในงานปฏิบัติการที่อับอากาศ (Standby Person) 
  • ผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตัดแยกระบบ (Authorized Isolator)
  • ผู้ปฏิบัติงาน (Worker or Entering Person)
  • ทีมช่วยเหลือ ทีมกู้ภัย (Rescue and First Aid Team)
Note : หัวหน้ากลุ่มงาน ภาษากฏกระทรวงฯ ที่อับอากาศ เรียกว่าผู้ควบคุมงาน, ณ ที่นี้ไม่ใคร่สะดวกที่จะเรียกดังนั้น และเพื่อให้สอดรับกับศาสตร์ที่ว่าด้วยวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรม จึงเรียกว่าหัวหน้ากลุ่มงานแทน ทั้งนี้ยังคงบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบดังที่จะกล่าวถึงเป็นลำดับถัดไป

นายจ้างหรือตัวแทนนายจ้าง (Area Owner)
q
ประสานหัวหน้ากลุ่มงานและร่วมกันสำรวจที่อับอากาศซึ่งจะเข้าไปทำงาน จากนั้นให้นายจ้างหรือตัวแทนนายจ้างดำเนินการ และจัดทำใบอนุญาตทำงานที่อับอากาศให้กับหัวหน้ากลุ่มงาน (Confined Space Work Permit) เพื่อควบคุมอันตรายที่อาจเกิด, เอกสาร Work Permit ดังกล่าวต้องประกอบด้วยเงื่อนไขดังต่อไปนี้เป็นขั้นต่ำ (ให้ดูแบบฟอร์ม Confined Space Work Permit ประกอบการอ่านเมนูนี้) :
1 เงื่อนไขการขออนุญาตเข้าทำงานในที่อับอากาศ
  • หลังทำสำรวจที่อับอากาศ มอบหมายให้หัวหน้ากลุ่มงานเตรียมเอกสารสนับสนุนการปฏิบัติงานดังนี้ : ใบขออนุญาตเข้าทำงาน, เอกสารคู่มือคำแนะนำ, ใบ Relate Permit (Relate Permit คืออะไร-ให้ดู Note ด้านล่างประกอบความเข้าใจ) และใบรายการตัดแยกระบบ (Equipment Lockout List)
Note1 : งานปฏิบัติการซึ่งถือว่าเสี่ยงอันตรายสูงในภาคปฏิบัติการอุตสาหกรรม หรือปฏิบัติการโรงงานมี 6 ประเภทคือ (1) งานปฏิบัติการเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดความร้อนและประกายไฟ-Hot Work, (2) งานปฏิบัติการที่อับอากาศ-Safe Working in Confined Space, (3) งานปฏิบัติการบนที่สูง-Working at Heights, (4) งานปฏิบัติการนั่งร้าน-Access and Working Scaffolds, (5) งานปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูง-High Voltage, และงานปฏิบัติการขุดเจาะ-Excavation : งานปฏิบัติการทั้ง 6 ประเภทนี้หากเกี่ยวข้องต้องมีใบ Work Permit เป็นการเฉพาะ เพื่อใช้แนบกับคู่มือคำแนะนำ
Note2 : ลำดับนี้หากท่านอ่านและเข้าใจยากลำบาก ให้ไปอ่านเมนูอื่นให้จบเสียก่อนและกลับมาอ่านอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นจะเข้าใจได้โดยไม่ยากลำบาก

  • หลังจากหัวหน้ากลุ่มงานจัดทำเอกสารสนับสนุนแล้วเสร็จ ให้พิจารณาความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดนั้น ตัวอย่างเช่น เอกสารคู่มือคำแนะนำ ต้องการระบุขั้นตอนปฏิบัติงานที่ชัดเจน บ่งชี้อันตรายและกำหนดมาตรการควบคุมอุบัติเหตุ ได้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ได้ระบุแผนฉุกเฉิน แผนช่วยเหลือช่วยชีวิตไว้แล้วที่ส่วนท้ายฉบับของเอกสารคู่มืคำแนะนำ ฯลฯ เป็นต้น

2 เงื่อนไขการตรวจวัดบรรยากาศ การปิดกั้นพื้นที่ฯและการเฝ้าระวัง
  • ผู้ทำหน้าที่เฝ้าระวัง (Standby Person) ผ่านการฝึกอบรมและมีชื่ออยู่ในทะเบียนให้เป็นผู้ทำหน้าที่เฝ้าระวังขององค์กร 
  • ปิดกั้นโดยรอบพื้นที่-ที่อับอากาศ ในรัศมีไม่ต่ำกว่า 2 เมตร หรือให้เป็นไปตามผลการทำประเมินความเสี่ยงแต่ต้องไม่ต่ำกว่า 2 เมตร 
  • กำหนดช่วงเวลาตรวจวัดบรรยากาศไว้ในใบบันทึกปฏิบัติการที่อับอากาศ (Confined Space Entry Log) เรียบร้อยแล้ว 
  • ได้กำหนดมาตรการตรวจวัดก๊าซ และกำหนดค่าความเข้มข้นที่ปลอดภัย สำหรับ Oxygen, CO, H2S และ LEL ไว้แล้วในใบ Confined Space Entry Log เรียบร้อยแล้ว

3. เงื่อนไขกรณีตำแหน่งปฏิบัติงานอยู่สูงจากพื้นเท่ากับหรือมากกว่า 2 เมตร
  • เลือกวิธีปฏิบัติงานบนที่สูงได้ถูกต้องเช่นเลือกใช้บันได ม้ายืน นั้งร้าน สายรั้งจำกัดระยะหรือสายรัดลำตัวพร้อมชุดอุปกรณ์ลดความรุนแรงเนื่องจากการตก 
  • อุปกรณ์ปฏิบัติงานบนพื้นที่สูงได้มาตรฐาน และผ่านการตรวจสภาพก่อนใช้งาน 
  • ผู้ทำหน้าที่ Standby Person ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรงานปฏิบัติการบนที่สูง (Working at Heights) และมีชื่ออยู่ในทะเบียนอนุญาตให้ปฏิบัติการบนที่สูงขององค์กร 
  • จัดทำใบขออนุญาตทำงานบนที่สูง และแนบร่วมเป็นเอกสารคู่มือคำแนะนำ

4. เงื่อนไขกรณีมีงานเชื่อมในพื้นที่อับอากาศหรือเกิดก๊าซจากกระบวนการทำงาน (Flue Gasses)
  • ต้องกำหนดช่วงการตรวจวัดบรรยากาศฯ ไว้ในใบ Confined Space Entry Log ไม่นานเกินกว่า 30 นาที 
  • งานเชื่อมฯ ต้องมีใบขออนุญาตทำงานเกี่ยวกับความร้อนและประกายไฟ (Hot work Permit) ร่วมด้วย ทั้งนี้เอกสารดังกล่าวให้ใช้แนบเป็นส่วนประกอบของเอกสารคู่มือคำแนะนำ
  • งานเชื่อมฯ ต้องมีมาตรการควบคุมตามเอกสาร ขออนุญาตทำงานเกี่ยวกับความร้อนและประกายไฟ (Hot Work Permit) 
  • ต้องกำหนดมาตรการระบายอากาศเฉพาะที่ด้วย (Local Ventilation)

5. มาตรการระบายอากาศ
การระบายอากาศฯ มี 3 วิธีคือระบายอากาศตามธรรมชาติ, ระบายอากาศโดยใช้กลไก (Replacement Ventilation) และทั้งสองวิธีร่วมกัน หลังระบายอากาศค่าตรวจวัดต้องอยู่ในช่วงควบคุม
5.1 การระบายอากาศตามธรรมชาติ (Natural Ventilation)
  • qต้องเปิดค้างฝา Manhole หรือประตูปิดเปิดอย่างน้อยสองระดับคือระดับพื้นกับระดับสูงสุดของอุปกรณ์อับอากาศที่จะเข้าไป 
  • qManhole หรือประตูที่เปิดค้างไว้ต้องมีมาตรการล็อคเอาท์ ไม่ให้ปิด, ต้องเปิดตลอดเวลากระทั่งงานแล้วเสร็จ
5.2 การระบายอากาศโดยใช้กลไก (Replacement Ventilation)
  • qติดตั้ง Blower อาจเลือกแบบใดแบบหนึ่งเช่นเป่าเข้า ดูดออกหรือ Push-Pull แต่การระบายต้องเพียงพอไม่มีบรรยากาศอันตราย 
  • qBlower และอุปกรณ์ส่วนควบ-การติดตั้งและการนำมาใช้ต้องไม่เป็นเหตุให้เพิ่มอันตรายในสถานที่ทำงาน

6. แผนฉุกเฉิน แผนกู้ภัย หัวหน้าทีมกู้ภัยและผู้เฝ้าระวัง ต้องถูกทบทวนให้เข้าใจถึงมาตรการดังต่อไปนี้ เป็นขั้นต่ำ
  • หากผลการตรวจวัดบรรยากาศช่วงหนึ่งช่วงใด ออกนอกค่าควบคุม, Standby Person ต้องให้ผู้ปฏิบัติงานออกจากพื้นที่อับอากาศ 
  • หัวหน้าทีมฉุกเฉิน, กู้ภัยฯ ต้องเข้าร่วมประชุมก่อนเปิดงาน
  • งานกู้ภัย ช่วยเหลือและช่วยชีวิตต้องถูกทบทวนซักซ้อมความเข้าใจร่วมกัน และรวมถึงวิธีเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากที่อับอากาศและแผนฉุกเฉินทั้งหมด (หากเกิดเหตุ) 
  • ต้องระบุวิธีสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติงาน-Standby Person และหัวหน้าทีมฉุกเฉิน, กู้ภัยฯ

หัวหน้ากลุ่มงาน (Job Leader or Job Supervisor)
หัวหน้ากลุ่มงานและทีมปฏิบัติการฯ ของโลกอุตสาหกรรมสมัยใหม่ มักถูกสร้างให้เป็นศูนย์กลางและประสานงานได้รอบตัว 360 องศา (360 degree comunication), ในงานปฏิบัติการที่อับอากาศที่กำลังกล่าวถึงนี้ก็ดังเดียวกัน หัวหน้ากลุ่มงานจะมีบทบาทหลักในการนำทีมฯ ไปปฏิบัติการที่อับอากาศ ให้แล้วเสร็จตามที่ได้รับมอบหมาย-ตื่นก่อนนอนทีหลังและถูกสร้างให้มีภาวะนำมากที่สุด บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของหัวหน้ากลุ่มงานมีดังนี้ 

  • ทำสำรวจที่อับอากาศฯ จากนั้นให้จัดทำเอกสารสนับสนุนการปฏิบัติงาน เพื่อยื่นขออนุญาตเข้าทำงานกับนายจ้างหรือตำแหน่งงานตัวแทนนายจ้าง เอกสารที่ต้องเตรียมมีดังต่อไปนี้
    1. ใบขออนุญาตเข้าทำงาน (Permit to Work or Authority to Work Permit)
    2. คู่มือคำแนะนำ (Work Instruction)
    3. ใบ Relate Permit ที่เกี่ยวข้อง, กรณีมีงานเสี่ยงอันตรายสูงร่วมด้วยในงานปฏิบัติการที่อับอากาศ-งานเสี่ยงอันตรายสูงมี 6 ประเภท ได้กล่าวถึงแล้วข้างต้น
    4. ใบรายการตัดแยกระบบ (Equipment Lockout List)
    5. ขอรับใบอนุญาตให้ทำงานที่อับอากาศ (Confined Space Work Permit) ซึ่งนายจ้างเป็นผู้จัดเตรียมให้
    6. เตรียมใบบันทึกปฏิบัติการที่อับอากาศ (Confined Space Entry Log) ให้กับผู้คอยช่วยเหลือ

Note-หกแบบฟอร์มที่กล่าวถึงนี้จะลงใน Web Site ประมาณสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฏาคม ครับผม

  • ประสานช่างเทคนิคผู้มีหน้าที่ในการตัดแยกระบบเพื่อตัดแยกระบบ ทดสอบว่าระบบฯ ถูกตัดแยกจริงและปิดกั้นควบคุมพื้นที่ปฏิบัติงาน
  • ประชุมกลุ่มทำงาน เพื่อชี้แจงขอบเขตของงานปฏิบัติการทั้งหมดรวมถึงมาตรการทางด้านความปลอดภัยด้วย
  • ให้ผู้ปฏิบัติลงชื่อเข้าทำงาน และเปิดงาน

           

ผู้ช่วยเหลือในงานปฏิบัติการที่อับอากาศ (Standby Person) 
ผู้ช่วยเหลือในงานปฏิบัติการที่อับอากาศ (Standby Person) เป็นดังมือขวาของหัวหน้ากลุ่มงาน ต้องเป็นผู้มีความรู้และมีความสามารถในเชิงเทคนิคปฏิบัติการอย่างครอบคลุม รู้จริงชัดเจน, แสดงบทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบดังนี้ :
  • ศึกษาขอบขอบการปฏิบัติการทั้งหมดจากหัวหน้ากลุ่มงาน ตรงไหนไม่เข้าใจ-ต้องถาม
  • ศึกษาลำดับปฏิบัติงาน และทราบขั้นตอนฯ ทั้งหมดแต่แรกเริ่มกระทั่งงานจบ
  • ทำสำรวจและปิดกั้นพื้นที่ปฏิบัติการ
  • กำหนดระยะเวลาการตรวจวัดอากาศ ลงใน-ใบบันทึกปฏิบัติการที่อับอากาศ (Confined Space Entry Log) และใช้เครื่องตรวจวัดอากาศได้เป็นอย่างดี
  • ทบทวนและทดลองใช้ช่องทางสื่อสารระหว่าง ผู้ช่วยเหลือกับพนักงานปฏิบัติการ, ผู้ช่วยเหลือกับหัวหน้าทีมกู้ภัยและผู้ช่วยเหลือกับหัวหน้ากลุ่มงาน
  • กำกับดูแลการเข้า-ออกที่อับอากาศของผู้ปฏิบัติงาน, บันทึกและลงนามเข้าที่อับอากาศก่อนเข้าฯ และบันทึกลงนามทุกครั้งเมื่อผู้ปฏิบัติงานออกจากที่อับอากาศ ทั้งนี้โดยใช้ใบบันทึกปฏิบัติการที่อับอากาศ (Confined Space Entry Log)
  • สั่งการ กำกับดูแลให้ผู้ปฏิบัติงานออกจากที่อับอากาศ หรือให้หยุดงานเป็นการชั่วคราวกรณีพบความผิดปกติใดๆ ใน 5 กลุ่มดังนี้ : ผู้ปฏิบัติงานมีสภาพไม่พร้อมปฏิบัติงาน, เอกสารสนับสนุนการปฏิบัติงานบกพร่อง ไม่สมบูรณ์, อุปกรณ์ในงานปฏิบัติการหรือการควบคุมพื้นที่ปฏิบัติงานบกพร่อง, ขัดข้องเกี่ยวกับระบบสื่อสารและทีมกู้ภัย ทีมช่วยเหลือช่วยชีวิตไม่พร้อม
  • ถูกฝึกให้มีความรู้ ความสามารถในเรื่องการประเมินสภาพงาน, การบ่งชี้ & การควบคุมอุบัติเหตุ, งานกู้ภัย ช่วยเหลือช่วยชิวิต 
  • ประสานและรายงานให้หัวหน้ากลุ่มงานทราบเกี่ยวกับสิ่งผิดปกติทันที และแจ้งความคืบหน้าการปฏิบัติงานฯ ให้ทราบเป็นระยะ

ผู้รับผิดชอบผู้ตัดแยกระบบ (Authorized Isolator)
ผู้ทำหน้าที่ตัดแยกระบบ ควรมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ การขออนุญาตเข้าทำงานและการตัดแยกระบบเป็นพื้นฐาน (Lockout Tagout and Permit to Work) และแนะนำให้เป็นช่างเทคนิคส่วนงานไฟฟ้าประจำส่วนงานนั้นๆ ถือว่าดีที่สุด ทั้งนี้หน่วยงานต้นสังกัดควรจะทวนสอบถึงความรู้ ความสามารถเสียก่อน, บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบ
  • เป็นที่ปรึกษาหัวหน้ากลุ่มงาน (Job Supervisor or Job Leader) เพื่อกำหนดจุดตัดแยกลงในใบบันทึกการตัดแยกระบบ (Equipment Lockout List)
  • ร่วมตัดแยก & ล็อคเอาท์อุปกรณ์เช่นวาล์ว เบรคเกอร์ไฟฟ้า ยึดตรึงอุปกรณ์ด้านบนที่อาจตกใส่ ฯลฯ และร่วมทดสอบเพื่อยืนยันว่าระบบตายจริง พลังงานเหล่านั้นทำอันตรายคนไม่ได้แล้ว โดยอุปกรณ์ที่จะตัดแยกให้อ้างอิงตามรายการที่กำหนดไว้ในใบบันทึกการตัดแยกระบบ (Equipment Lockout List)
  • หลังจากงานแล้วเสร็จ-ร่วมปลดคืนอุปกรณ์ที่ตัดแยกเอาไว้ และร่วมทดสอบเพื่อยืนยันว่าระบบกลับมาทำงานได้ดังเดิม

ผู้ปฏิบัติงาน (Worker or Entering Person)
ผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศต้องเข้าร่วมการประชุมก่อนเปิดงานเพื่อ ทำความเข้าใจถึงขอบเขตและขั้นตอนการปฏิบัติงานในที่อับอากาศโดยละเอียด
  • ขณะเข้าร่วมประชุมเพื่อเปิดงาน หากไม่เข้าใจให้ถาม, กรณีผิดปกติระหว่างการปฏิบัติงาน ให้แจ้งผู้คอยช่วยเหลือทันที
  • ไม่ทำงานลัดขั้นตอน และต้องมีพฤติกรรมที่ปลอดภัยตลอดระยะเวลาปฏิบัติงาน
  • หากเกิดเหตุฉุกเฉิน ต้องมีความรู้และมีความสามารถในการหนีภัย

ทีมช่วยเหลือ ทีมกู้ภัย (Rescue and First Aid Team)
หัวหน้าทีมฯ ต้องศึกษาขั้นตอนปฏิบัติงานในเอกสารสนับสนุนการปฏิบัติงาน คู่มือคำแนะนำ (Work Instruction) และนำมาพิจารณาถึงแผนปฏิบัติการกู้ภัย ช่วยเหลือช่วยชีวิตหากเกิดเหตุ
  • เข้าร่วมประชุมก่อนเปิดงาน
  • ร่วมวางแผนและเตรียมอุปกรณ์ฯ ตามแผน
  • ทดสอบและยืนยันว่าเครื่องมือสื่อสารมีความพร้อม ใช้งานได้จริง
  • ชี้แจงและกำกับดูแลให้ทีมกู้ภัย ช่วยเหลือช่วยชีวิตมีความพร้อมปฏิบัติการหากเกิดเหตุ
  • หากทีมกู้ภัยไม่พร้อมให้ประสานผู้ช่วยเหลือในงานปฏิบัติการที่อับอากาศเพื่อทราบทันที

         
         ภาพนี้ได้รับการเอื้อเฟื้อจากจ่าเอกเข็มชาติ ขอขอบคุณไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

กลับหน้าแรก : คลิ๊กตรงนี้
กลับเมนูหลัก ความปลอดภัยในงานปฏิบัติการที่อับอากาศ : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู คุณสมบัติของผู้เกี่ยวข้องกับงานปฏิบัติการที่อับอากาศ : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนูวิธีการ หลักเกณฑ์บ่งชี้ที่อับอากาศในสถานประกอบการ : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู การขออนุญาตเข้าทำงานและการขอยกเลิกปฏิบัติการที่อับอากาศ : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู การประเมินสภาพงานและมาตรการควบคุมอันตราย : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู การตรวจวัดก๊าซและเทคนิคการระบายอากาศ : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลและ SCBA : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู แผนฉุกเฉิน แผนช่วยเหลือช่วยชีวิต : คลิ๊กตรงนี้

  
MENU
 
WEB LINK
 
VISIT
 สถิติวันนี้ 11 คน
 สถิติเมื่อวาน 254 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
3293 คน
55439 คน
937491 คน
เริ่มเมื่อ 2012-10-14
 
Copyright (c) 2006 by Ronnarong