Sangtakieng.com

๖.๒ ตอนที่หก
working at heights safety engineering 
วิศวกรรมความปลอดภัยการทำงานบนที่สูง 
ตอนที่หก (๖.๒) การกำกับดูแลงานแบบ SPEW และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

งานเขียน เรียบเรียงและนำเสนอ : รณรงค์ แสงตะเกียง
facebook : รณรงค์ แสงตะเกียง 
e-mail : sangtakieng@gmail.com mobile 093 7719222 

บริษัท เอเซีย แสงตะเกียง จำกัด (ASSA) : ฝึกอบรม สัมมนา
อบรม สัมมนา งานที่ปรึกษาจัดทำระบบ & ระเบียบปฏิบัติงาน
e-mail : sangtakieng@gmail.com  phone 093 7719222

ตอนที่ (๖.๑) ได้อธิบายองค์ประกอบความปลอดภัยเกี่ยวกับ ระบบปลอดภัยไปแล้ว (S-system safety) ณ ลำดับนี้จะอธิบายต่ออีกสามองค์ประกอบความปลอดภัยคือ P-E-W
แสดงแผนภาพเดิมให้เห็นในลำดับนี้ด้วย : 
 
 
 
 

องค์ประกอบที่สอง คนปลอดภัย People Safety

 
คนปลอดภัยหมายถึงการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยในการกำหนดคุณสมบัติผู้ปฏิบัติงาน ให้มีความรู้ความสามารถตรงกับงานที่จะมอบหมายและกำหนดเกณฑ์ด้านสุขภาพก่อนอนุญาตทำงาน ในเชิงบริหารต้องระบุเงื่อนไขนี้ไว้ในระเบียบปฏิบัติขององค์กร การกำกับดูแลจึงต้องมีหลักฐานประกาศนียบัตรผ่านการฝึกอบรม certificate และเอกสารยืนยันสุขภาพ 
 
ความรู้ความสามารถ 
  • ความรู้ความสามารถหลักของบุคคล (core competencies) หมายถึงจบการศึกษาสาขาไหน ระดับใดและคุณลักษณะจำเพาะของบุคคลเป็นอย่างไร โดยยืนยันจากเอกสารวุฒิการศึกษา ประกาศนียบัตร certificate หรือการพูดคุยสัมภาษณ์เพิ่มเติม ประกาศนียบัตรต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร ความปลอดภัย สำหรับลูกจ้างทั่วไปและลูกจ้างเข้าทำงานใหม่ หลักสูตรการขออนุญาตทำงานและการตัดแยกระบบ lockout tagout and permit to work
  • ความรู้ความสามารถตามลักษณะงาน (job competencies) ยืนยันจากหลักฐานใบผ่านงานหรือประกาศนียบัตร certificate  
ความรู้ความสามารถตามลักษณะงาน บางส่วนถูกกำหนดและให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมาย การกำหนดดังกล่าวนี้แบ่งออกเป็นสองลักษณะคือหลักสูตรที่กฎหมายกำหนดซึ่งระบุโครงสร้างหลักสูตรให้ปฏิบัติตาม ลักษณะที่สองคือกฎหมายกำหนดให้ฝึกอบรมแต่ไม่ได้กำหนดโครงสร้างหลักสูตรเอาไว้ ทั้งนี้ให้ผู้ประกอบการพิจารณา จัดการฝึกอบรมตามลักษณะของงาน 
 
ความพร้อมทางสุขภาพ 
  • ตรวจสุขภาพประจำปีตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และอีกนัยหนึ่งคือพระราชบัญญัติมิได้กำหนดให้ฝึกอบรม แต่เป็นงานเสี่ยงอันตรายหรือเป็นลักษณะที่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถในการทำงาน หน่วยธุรกิจภาคงานอุตสาหกรรมจึงกำหนดให้ฝึกอบรม
  • สุขภาพก่อนปฏิบัติงานแต่ละวัน (fit to work) ให้ผู้ปฏิบัติงานเป็นผู้แจ้งกับหัวหน้างานว่าสุขภาพพร้อมหรือไม่พร้อมปฏิบัติงาน  
สุขภาพที่ไม่พร้อมปฏิบัติงาน ตัวอย่างเช่น มีประวัติเคยเป็นโรคลมชัก ป่วยและทานยาประเภทระงับหรือกระตุ้นระบบประสาท หลับไม่ถึงหกชั่วโมงต่อวัน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ เป็นต้น หากพบว่ามีการใช้สารเสพติดผิดกฎหมาย ถือว่าขาดคุณสมบัติตั้งแต่ต้นและต้องไม่อนุญาตให้ทำงาน

 
องค์ประกอบที่สาม เครื่องมือ เครื่องจักรและวัสดุปลอดภัย Plant Safety 
 
เพื่อเข้าใจง่ายเกี่ยวกับการกำกับดูแลและบริหารจัดการเครื่องจักร เครื่องมือ วัสดุหรือวัตถุดิบซึ่งจะนำเข้ามาใช้ในที่ทำงาน จะแยกอธิบายเป็นสามส่วนดังนี้ 
หนึ่ง วัสดุไวไฟหรือสารเชื้อเพลิง : ต้องกำหนดให้จัดเก็บในพื้นที่ควบคุม (controlled area) ซึ่งพื้นที่ควบคุม ต้องมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
 
  • จัดเก็บบนพื้นที่อากาศถ่ายเทไกลจากแหล่งความร้อนและประกายไฟไม่ต่ำกว่า ๑๑ เมตร ให้ประเมินความเสี่ยงร่วมด้วย หากจำเป็น ให้เพิ่มระยะทางจัดเก็บออกไปหรือจัดทำผนังทึบป้องกันตามผลการทำประเมินความเสี่ยง
  • พื้นจัดเก็บมั่นคงไม่ทรุดตัว หากเป็นลักษณะถังบรรจุ มาตรการจัดเก็บต้องไม่ล้ม พื้นไม่ทรุดตัวและแสดงเขตจัดเก็บให้ชัดเจน
  • กำกับดูแลมิให้สูบบุหรี่ ห้ามทำให้เกิดประกายไฟ ห้ามพกพาอุปกรณ์สำหรับจุดไฟหรือติดไฟในระยะ ๑๑ เมตร
  • ดูแลมิให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณที่มีการจัดเก็บวัตถุไวไฟและจัดทำป้ายสัญลักษณ์ความปลอดภัย อันตรายห้ามสูบบุหรี่ ห้ามทำให้เกิดประกายไฟ หรือห้ามพกพาอุปกรณ์สำหรับจุดไฟหรือติดไฟหรือป้ายซึ่งมีข้อความอื่นที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน ตามสภาพหรือคุณสมบัติของวัตถุไวไฟหรือวัตถุระเบิดไว้ให้เห็นได้ชัดเจน ณ บริเวณนั้น
  • ต้องมีเครื่องดับเพลิงมือถือหรือถังดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ที่เหมาะสมกับชนิดของเชื้อเพลิงและต้องมีขนาดบรรจุไม่น้อยกว่าเครื่องละสี่กิโลกรัม โดยให้มีอย่างน้อยหนึ่งเครื่อง
การติดตั้งเครื่องดับเพลิง ต้องให้ส่วนบนสุดของตัวเครื่องสูงจากระดับพื้นหรือสถานที่ก่อสร้างไม่เกิน ๑.๔๐ เมตร อยู่ในที่ซึ่งสามารถมองเห็นและใช้ได้สะดวกและตรวจสอบเครื่องดับเพลิงให้อยู่ในสภาพใช้งานอย่างน้อยหกเดือนต่อครั้งการติดตั้งเครื่องดับเพลิง ต้องให้ส่วนบนสุดของตัวเครื่องสูงจากระดับพื้นหรือสถานที่ก่อสร้างไม่เกิน ๑.๔๐ เมตร อยู่ในที่ซึ่งสามารถมองเห็นและใช้ได้สะดวกและตรวจสอบเครื่องดับเพลิงให้อยู่ในสภาพใช้งานอย่างน้อยหกเดือนต่อครั้ง
  • มีการควบคุมและบันทึกการนำออกไปใช้งาน สามารถตรวจสอบได้
 
สอง เคมีภัณฑ์ที่เป็นของแข็งหรือของเหลว ที่ไม่ติดไฟหรือไม่ระเบิด (ภาพจาก www.netclipart.com) 
 
  • เอกสารเคมีภัณฑ์แต่ละชนิด ให้จัดเก็บที่แผนกอาชีวอนามัยและความปลอดภัยหนึ่งฉบับและเก็บสำเนาในพื้นที่จัดเก็บอีกหนึ่งฉบับ
  • กรณีมีสถานะเป็นของเหลว ให้จัดเก็บในพื้นที่ขอบกั้น (bounded area) ซึ่งมีปริมาตรมากว่าเคมีที่เก็บทั้งหมด ๑๒๕ เปอร์เซ็นต์
  • กรณีจัดเก็บเคมีภัณฑ์หลายชนิดรวมกันไว้ในพื้นที่เดียวกัน ให้แสดงผังจัดเก็บที่ทางเข้า จัดทำผัง soft file และให้จัดส่ง soft file ฉบับที่เป็นปัจจุบันไว้ที่แผนกอาชีวอนามัยและความปลอดภัยด้วย
  • การจัดเก็บเคมีภัณฑ์หลายชนิดรวมกันในพื้นที่เดียวกัน ต้องไม่เป็นเหตุให้เกิดปฏิกิริยาเคมีที่ก่อความรำคาญต่อผู้ปฏิบัติงาน เช่นมีกลิ่น ฯลฯ เกิดอันตรายหรือส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม
  • การแบ่งจัดเก็บ ส่วนที่ถูกแบ่งออกไปต้องปิดฉลากแสดงชื่อและข้อมูลของเคมีภัณฑ์ไว้ที่บรรจุภัณฑ์นั้นด้วย
  • มีการควบคุมและบันทึกการนำออกไปใช้งาน สามารถตรวจสอบได้

เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องมือกล
 
คำจำกัดความ ณ ที่นี้มีเจตนารมณ์เพื่อจัดระดับอุปกรณ์ วัสดุ วัตถุดิบ เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องมือกล สำหรับใช้ข้อมูลในเชิงบริหารเท่านั้น หากไม่ทำดังนี้เมื่อนำเครื่องมือมาใช้ การควบคุมอุบัติเหตุจะประสบความยากลำบาก การบริหารจัดการต้องแบ่งอุปกรณ์ วัสดุ วัตถุดิบ เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องมือกล ออกเป็นสามระดับ
 
 
พึงระลึกไว้เสมอว่า คำจำกัดความ ณ ที่นี้เราจัดระดับวัสดุ เครื่องมือต่างๆ ฯลฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยเท่านั้น 
 
  • เครื่องจักร โดยทั่วไปมักเป็นเครื่องมือที่มีน้ำหนักเกินความสามารถที่จะยกเคลื่อนย้ายได้ด้วยแรงคนเพียงคนเดียว เครื่องจักรหมายความว่าประกอบด้วยหลายชิ้นส่วนสำหรับกำเนิดพลังงาน เปลี่ยนหรือแปลงสภาพพลังงานหรือส่งพลังงาน ทั้งนี้ด้วยกำลังน้ำ ไอน้ำ เชื้อเพลิง ลม ก๊าซ ไฟฟ้าหรือพลังงานอื่น
ตัวอย่างเช่น สายพานลำเลียง เครนรางเลื่อนเหนือศีรษะ รถเครน เครื่องอัดอากาศ เครื่องปั่นไฟ รถกระเช้า กระเช้าไฟฟ้ากอนโดลา ลิฟต์ขนส่งวัสดุ ฯลฯ 
 
  • เครื่องมือกล หมายความว่าเครื่องมือที่สามารถยกเคลื่อนย้ายด้วยคนเพียงคนเดียว ประกอบด้วยหลายชิ้นส่วน กลไกการทำงานง่ายไม่ซับซ้อน ทั้งนี้โดยเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้า พลังงานลมหรือแรงคนเป็นพลังงานกล
ตัวอย่างเช่น สว่านไฟฟ้า หินเจียร์มือ สว่านมือเจาะไม้ รอกสาวมือ ฯลฯ  
ปลั๊กพ่วงต่อสายไฟ เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานเสี่ยงอันตรายสูง ให้บริหารจัดการเช่นเดียวกับเครื่องมือกลด้วย ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ช่วยยกในงานเครน เชือกโรยตัว อุปกรณ์ส่วนควบเชือกโรยตัว ฮาร์เนสส์ทำงานบนที่สูง รอกกู้ภัย เปลสนามกู้ภัย ฯลฯ 
 
  • เครื่องมือช่าง หมายความว่าเครื่องมือที่สามารถยกเคลื่อนย้ายได้ด้วยคนเพียงคนเดียว ประกอบด้วยหลายชิ้นส่วนหรือชิ้นส่วนเดียวก็ได้ ใช้งานโดยใช้แรงคน ไม่มีต้นกำลัง ตัวอย่างเช่น ค้อน ไขควง ประแจ ฯลฯ เป็นต้น
  • เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องมือกลหรืออุปกรณ์ส่วนควบของเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องมือกลที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมาย ตัวอย่างเช่น เครนอยู่กับที่ เครนเคลื่อนที่ เครื่องเชื่อมไฟฟ้า เครื่องเชื่อมตัดด้วยก๊าซ ฯลฯ

 
องค์ประกอบที่สี่ การปรับสภาพแวดล้อมการทำงานและควบคุมพื้นที่ทำงานให้ปลอดภัย Area Attributed (or Working Environment Safety)  
 
ความหมายของ area attributed เหมือนกับ working area safety หรือ working environmental safety หมายถึงการปิดกั้นควบคุมพื้นที่ปฏิบัติงาน+การปรับสภาพพื้นที่ให้ปลอดภัยก่อนเริ่มปฏิบัติงาน 
การปิดกั้นและควบคุมพื้นที่ปฏิบัติงาน working area barricading ก่อนหน้านี้ได้กล่าวถึงโดยละเอียดแล้ว ลำดับนี้จะอธิบายเพิ่มเติมเฉพาะการปรับสภาพที่ทำงานให้ปลอดภัยเท่านั้น วิธีปรับสภาพที่ทำงานให้ปลอดภัย ตัวอย่างเช่น 
 
  • หัวท่อนั่งร้านแบบท่อประกอบ ซึ่งอยู่ใกล้บันไดหรือที่ชั้นพักใช้ปลอกสวมหรือใช้ผ้าปิดคลุมและมัดยึด เพื่อป้องกันไม่ให้ส่วนปลายของท่อบาดคนทำงานที่อาจเดินเบียดชิด
  • ส่วนขอบเหลี่ยมของโครงเครื่องจักร เป็นโลหะสีทึบ เมื่อเปิดเวิร์คเพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักร จะใช้เทปเหลือดำสะท้อนแสงพันรอบขอบเหลี่ยมเพื่อให้คนทำงานมองเห็นขอบเหลี่ยมได้ชัดเจน
  • ใช้รถกระเช้าแบบขากรรไกร เข้าไปทำงานในคอลัมน์ซึ่งเป็นถังเหลี่ยมแคบ การระบายอากาศไม่ดีพอและอุณภูมิค่อนข้างสูง จึงติดตั้งพัดลมเพื่อระบายอากาศเพื่อให้ทำงานได้สบายขึ้น
  • งานซ่อมบำรุงภายในโรงงาน พื้นที่ซึ่งแสงสว่างไม่เพียงพอจึงติดตั้งไฟส่องสว่าง การทำงานจึงมองเห็นชัดเจนและทำงานได้สะดวก ฯลฯ เป็นต้น
การกำกับดูแลงานบนที่สูง ต้องรู้ทั้งทฤษฎีเชิงปฏิบัติการและเข้าใจงานภาคสนาม การบริหารจัดการและกำกับดูแลต้องครบทั้งสี่ด้าน S-P-E-W

กลับหน้าแรก : คลิ๊กตรงนี้
ตอนที่หนึ่ง (๑.๑) ที่สูง ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานบนที่สูง : คลิ๊กตรงนี้ 
ตอนที่หนึ่ง (๑.๒) ที่สูง ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานบนที่สูง : คลิ๊กตรงนี้ 
ตอนที่สอง อุปกรณ์ป้องกันการตกระบบสายรั้งและงานเชือกโรยตัว : คลิ๊กตรงนี้
ตอนที่สาม อุปกรณ์ลดความรุนแรงจากการตก : คลิ๊กตรงนี้
ตอนที่สี่ ม้ายืน บันไดและความปลอดภัยการใช้งาน : คลิ๊กตรงนี้ 
ตอนที่ห้า การควบคุมของตกและวิธีปิดกั้นควบคุมพื้นที่ปฏิบัติงาน : คลิ๊กตรงนี้
ตอนที่หก (๖.๑) องค์ประกอบความปลอดภัยงานที่สูง และกฎหมาย : คลิ๊กตรงนี้ 
ตอนที่เจ็ด กระเช้ายกคนด้วยรถเคน HOLD รอ-กำลังพัฒนา : คลิ๊กตรงนี้
 
 
  
MENU
 
WEB LINK
 
VISIT
 สถิติวันนี้ 150 คน
 สถิติเมื่อวาน 129 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
1839 คน
53985 คน
936037 คน
เริ่มเมื่อ 2012-10-14
 
Copyright (c) 2006 by Ronnarong