Sangtakieng.com

๒ ตอนที่สอง

working at heights safety engineering
วิศวกรรมความปลอดภัยการทำงานบนที่สูง
ตอนที่สอง อุปกรณ์ป้องกันการตกระบบสายรั้งและงานเชือกโรยตัว
fall restraint system & rope access safety
 
ห้าวิธีประยุกต์ใช้อุปกรณ์ป้องกันการตกระบบสายรั้ง ประกอบด้วยเชือกบังคับระยะไม่ให้ออกนอกขอบตก การรั้งผู้ปฏิบัติงานอยู่กับที่เพื่อทำงานบนต้นเสา เชือกโรยตัวทำงานบนผนังสูง wire rope crab (or detachable cable sleeve) อุปกรณ์ป้องกันการตกแบบฟันโลหะบีบล็อค และการใช้ม้วนสลิงแบบกระตุกหยุด (retractable lanyard)

งานเขียน เรียบเรียงและนำเสนอ : รณรงค์ แสงตะเกียง
facebook : รณรงค์ แสงตะเกียง
e-mail : sangtakieng@gmail.com  phone 093 7719222
 
บริษัท เอเซีย แสงตะเกียง จำกัด (ASSA) : ฝึกอบรม สัมมนา
อบรม สัมมนา งานที่ปรึกษาจัดทำระบบ & ระเบียบปฏิบัติงาน 
e-mail : sangtakieng@gmail.com  phone 093 7719222

อุปกรณ์ป้องกันการตกหมายความว่า อุปกรณ์ซึ่งใช้เกาะยึดไว้ระหว่าง ๒ ส่วน คือหนึ่งตัวผู้ปฏิบัติงานซึ่งสวมฮาร์เนสส์อยู่ และสองคือจุดยึดเกาะที่มีลักษณะทางกายภาพไม่เป็นขอบเหลี่ยมหรือไม่ใช่ขอบคม แข็งแรง โดยแรงรับแรงกระตุกได้ตามหลักการทางด้านวิศวกรรมความปลอดภัยคือ ๑๕๐ กิโลกรัม (๑๕๐๐ นิวตัน) คูณพิกัดเผื่อความปลอดภัยขั้นต่ำ ๓.๕ เท่า ทั้งนี้การใช้อุปกรณ์ระบบสายรั้งอาจทำเพื่อเหตุผลอย่างหนึ่งอย่างใด เช่นจำกัดพื้นที่บนที่สูงขอบเปิด หรือยึดผู้ปฏิบัติงานไว้กับที่ไม่ให้ตกลงไปด้านล่างก็ได้
 
ก่อนหน้านี้ได้กล่าวถึงระบบป้องกันการตกระบบสายรั้งไปแล้วบางส่วน ในแง่มุมของทฤษฎีเชิงปฏิบัติการอาจนำเสนอแตกต่างกันไปบ้าง เช่นใช้นำเสนอบนหลักการ ABCD หรือ ABCDE หากพิจารณาในรายละเอียดและบวกเพิ่มกับข้อมูลจากภาคสนาม ซึ่งใช้เวลา ๕-๑๐ ปี ประมาณ ๕๐-๑๐๐ โครงการ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้านมากที่สุด ครอบคลุมมากที่สุด พบว่าสาระสำคัญยังอยู่ในกรอบ ABC ซึ่งเอกสารฉบับนี้จะนำเสนอตามหลักเกณฑ์นี้ ระบบป้องกันการตก (fall restraint system) แบ่งการประยุกต์ใช้งานออกเป็นห้าลักษณะดังนี้

  1. ใช้เชือกบังคับระยะไม่ให้ออกนอกขอบตก
  2. การรั้งผู้ปฏิบัติงานอยู่กับที่เพื่อทำงานบนต้นเสา
  3. งานเชือกโรยตัวเพื่อทำงานบนผนังสูง
  4. wire rope crab (or detachable cable sleeve) อุปกรณ์ป้องกันการตกแบบฟันโลหะบีบล็อค
  5. ใช้ม้วนสลิงแบบกระตุกหยุด retractable lift line
 

1. การใช้เชือกบังคับระยะไม่ให้ออกนอกขอบตก
 
ฮาร์เนสส์แบบเต็มตัวแบบสาม D-ring คือบริเวณต้นคอด้านหลังหนึ่งตัวและบริเวณหน้าอกซ้าย-ขวาอีกสองตัว มีมาตรฐานสากลรองรับ การซื้อเข้ามาใช้ในสถานประกอบการ ต้องซื้อพร้อม certificate (certificate จะถูกเย็บไว้ที่ตัวของฮาร์เนสส์) 

 
 
 
เงื่อนไขการใช้ระบบเชือกบังคับระยะ
 
  • สภาพแวดล้อมใช้งาน ต้องเป็นที่สูงขอบเปิดพื้นราบหรือลาดเอียงไม่เกิน ๗ องศา หากเกินกว่านี้ให้ใช้มาตรการหมอนรองรับแบบขั้นบันไดหรือใช้บันไดพาด ฯลฯ ซึ่งจะกล่าวถึงในหัวข้อการทำงานที่สูงบนหลังคา
  • จุดยึดเกาะ A anchorage point จุดยึดเกาะต้องอยู่นิ่งคงตัวไม่ยืดหยุ่น อาจจะแบบถาวรหรือสร้างขึ้นชั่วคราวเฉพาะงานก็ได้
  • B body harness ต้องฮาร์เนสส์แบบเต็มตัว มีมาตรฐานสากลรองรับ แนะนำเป็นแบบสภาพสามดีริง ต้นคอเท่ากับหนึ่งดีริงและหน้าอกซ้ายขวาอีกสองดีริง ฮาร์เนสส์ที่นำมาใช้งานต้องถูกตรวจสอบตรวจสภาพโดยตัวแทนฝ่ายบริหารทุกหกเดือน มีบันทึกให้ตรวจสอบได้และผ่านการตรวจสภาพก่อนใช้งานโดยผู้ใช้ 
  • การบังคับระยะวิธีนี้ C connector จะหมายถึงใช้เชือกแบบยืดตัวต่ำ (low stretch rope) สำหรับผูกเงื่อนให้ได้ตามระยะที่ต้องการ และให้หมายความรวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกับเชือกด้วย เช่นคาราบินเดอร์-หรือ wire rope crab ฯลฯ เป็นต้น หรืออีกรูปแบบหนึ่งคือการใช้เชือกร่วมกับกลไกฟันโลหะ โดยจะปรับล็อคระยะเชือกตามความยาวที่ต้องการ การบังคับระยะนี้ ตัวผู้ปฏิบัติงานต้องไม่ออกนอกขอบตก
 
 1.1  ขยายความเพิ่มเติมเกี่ยวกับเชือก 
 
เชือกที่ใช้ทำงานบนที่สูงหรือเชือกกู้ภัย จะถูกผลิตในลักษณะเคินเมนเทิล (kern mantel) หมายความว่าเส้นใยจะถูกบิดเข้าด้วยกันเพื่อเป็นแกนกลาง เรียกว่า kern ส่วนเส้นใยสังเคราะห์ที่หุ้มด้านนอกเรียกว่า mantel, เชือกสำหรับใช้งานตามวิธีนี้จะเป็นเชือกแบบคงตัว low stretch rope
เชือกแบบคงตัวหรือเชือกแบบยืดตัวต่ำ สามารถผลิตมาจากเส้นใยหลายชนิดเช่น ไนลอน โพลีเอสเตอร์ โพลีโพพีลีนและเคปลาร์ ฯลฯ มีแก่นเชือกและเปลือกนอกสองชั้น (kern and outer sheath) ขนาดใช้งาน ๑๑ ถึง ๑๕ มิลลิเมตร รับน้ำหนักขั้นต่ำ ๒๒๐๐ กิโลกรัม ยืดตัวได้ไม่เกินสิบเปอร์เซ็นต์ : คุณสมบัติของเชือก  
 
ไนลอน Nylon เป็นเชือกสังเคราะห์ชนิดแรกของโลก หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นช่วงที่ขาดแคลนเส้นใยธรรมชาติอย่างมาก ในปี พศ.๒๔๘๑ บริษัทดูปองท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา (dopont USA) ได้คิดค้นเส้นใยสังเคราะห์ชนิดนี้ขึ้น ไนลอนมีคุณสมบัติทนด่างแต่ไม่ทนกรด ทนทานต่อการครูด ขัด ถู เสียดสี ทนต่อแรงตกกระตุก ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวนี้ไม่มีในเส้นใยชนิดอื่น หากเปียกน้ำจะดูดซับได้ประมาณเจ็ดเปอร์เซนต์ของปริมาตรเชือกและความสามารถรับแรงจะลดลง ๑๐-๑๕ เปอร์เซ็นต์ ใช้งานได้ที่อุณหภูมิ ๑๐๐ องศาเซนเซียส จุดหลอมเหลวอยู่ที่ ๒๑๖ องศาเซนเซียส 
 
คุณสมบัติทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมี (physical, chemical properties) 
 
  • ความถ่วงจำเพาะ ๑.๑๓ เท่าของน้ำ ความถ่วงจำเพาะน้ำเท่ากับหนึ่ง จึงไม่ลอยน้ำ
  • ทนทานต่อแรงครูด ขัด ถู เสียดสี
  • ยืดตัวได้สูง ทนต่อแรงตกกระตุก ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ไม่มีในเส้นใยชนิดอื่น ทำให้ไนลอนรับแรงลักษณะดึงลากหรืองานที่เคลื่อนไหวได้ดี (dynamic load)
  • ทนรังสีอุลตราไวโอเลท UV
  • ในภาวะที่แห้ง จะเป็นฉนวนทางไฟฟ้า
  • มีความสามารถการยืดตัว ๒๐-๓๐ เปอร์เซ็นต์ของความยาว
  • เคมี-ทนต่อน้ำมัน ตัวทำละลายที่มาจากสารอินทรีย์ ฟอร์มาดีไฮด์และทนต่อการสัมผัสแอลกอฮอล์ 

โพลีเอสเตอร์ Polyester แข็งแรง ทนต่อการสึกหรอ ทนแสงอุลตราไวโอเลทได้ดีกว่าไนล่อน ทนต่อสภาวะเคมีที่เป็นกรดด่าง ทนต่อแรงตกกระตุกได้น้อยจึงไม่ควรนำไปใช้ในเชิงกีฬา โพลีเอสทีลีนสามารถใช้งานได้ที่อุณหภูมิ ๑๐๐ องศาเซนเซียส หมายความว่าเชือกจะยังคงสภาพแม้ใช้ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิ ๑๐๐ องศาเซนเซียส จุดหลอมตัว ๒๕๔ องศาเซนเซียส การผลิตเชือกแบบนี้ส่วนมากจะใช้ไนล่อนเป็นแกนและเปลือกจะเป็นโพลีเอสเตอร์
 
คุณสมบัติทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมี (physical, chemical properties)
 
  • ความถ่วงจำเพาะ ๑.๓๘ เท่าของน้ำ จึงไม่ลอยน้ำ
  • ทนทานต่อแรงครูด ขัด ถู เสียดสีได้ดีมาก
  • ยืดตัวได้น้อย จึงไม่ทนต่อแรงตกกระตุก ไม่แนะนำให้ใช้ในเชิงกีฬา
  • ทนรังสียูวี (อุลตราไวโอเลท) ได้ดีเยี่ยม
  • เป็นฉนวนทางไฟฟ้า non conductive to electricity
  • ทางเคมี ในภาวะอุณหภูมิบรรยากาศ จะทนกรดด่างได้ดีและความทนต่อกรด-ด่างจะลดลงเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น good resistance to alkalis and acid at room temperature. as the temperature increases, the resistance degreases.

โพลีโพรพีลีนและโพลีเอททีลีน Polypropylene and Polyethylene ความถ่วงจำเพาะน้อยกว่าน้ำ ทนต่อสภาวะเคมีที่เป็นกรดด่างและตัวทำละลาย ไม่ทนแสงอุลตราไวโอเลท ไม่ทนต่อการครูด ขูดขีด ขัดถู เสียดสี แนะนำให้ใช้กับงานกู้ภัยทางน้ำ เล่นสกีน้ำ อุตสาหกรรมประมง ฯลฯ เป็นต้น จุดหลอมเหลว ๑๗๐ องศาเซนเซียส
คุณสมบัติทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมี (physical, chemical properties)  
 
  • ความถ่วงจำเพาะ ๐.๙๑ เท่าของน้ำ จึงลอยน้ำ
  • ไม่ทนต่อแรงครูด ขูดขีด ขัดถู เสียดสี
  • หากเทียบกับเชือกชนิดอื่นซึ่งเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากัน เชือกเส้นใยโพลีโพรพีลีนจะรับโหลดได้ต่ำที่สุด
  • ความถ่วงจำเพาะน้อย น้ำหนักจึงเบา
  • ไม่ทนความร้อนและไม่ทนต่อรังสียูวี (อุลตราไวโอเลท) หากต้องการลดข้อจำกัดดังกล่าว เชือกที่ใช้งานกลางแจ้ง ควรย้อมด้วยสีที่มีสารดูดซับรังสียูวี จะทำให้เชือกมีอายุใช้งานนานขึ้น
  • มีความสามารถการยืดตัว ประมาณครึ่งหนึ่งของไนลอน คือประมาณ ๑๐-๑๕ เปอร์เซ็นต์ของความยาว
  • ทางเคมี ทนต่อตัวทำละลายและทนต่อกรดได้ดีมาก

เคปลาร์ Kevlar เส้นใยของเคปลาร์ โครงสร้างจะมีลักษณะโมเลกุลยาวของ poly-paraphenylene terephthalamide มาเกาะกัน ทนอุณหภูมิได้สูง รับแรงดึงสูง ทนแรงดึงได้มากกว่าเหล็กถึงเจ็ดเท่า ไม่ทนต่อแรงขูดขีดและไม่ยืดหยุ่น ไม่แนะนำให้ใช้กับงานกู้ภัยหรืองานที่รับแรงตกกระตุก  
 
คูณสมบัติทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมี (physical, chemical properties) 
 
  • ความถ่วงจำเพาะ ๐.๔๔ เท่าของน้ำ
  • มีความคงสภาพมาก ยืดตัวต่ำ ๑.๕-๔.๕ เปอร์เซ็นต์ จึงไม่เหมาะใช้กับงานในลักษณะกระตุกโหลด
  • ไม่ทนรังสีอุลตราไวโอเลท UV
  • ทนต่อการบาด ความเหนียวสูง ทนต่อแรงดึงสูงมากกว่าเหล็กเจ็ดเท่า 2920 Mpa
  • สามารถใช้งานอุณหภูมิ ๒๐๔.๔ องศาเซนเซียส ทนอุณหภูมิได้สูงสุด ๔๒๖ องศาเซนเซียส ทนความร้อนได้สูง ทนต่อเปลวไฟ
  • ไม่นำไฟฟ้า
  • ไม่หดตัวหรือหดตัวต่ำและไม่เปราะแม้อุณหภูมิต่ำ
  • ความต้านทานต่อเคมีสูงแต่จะไวปฏิกิริยาทางเคมีกับคลอรีน

สเปคตร้า Spectra หรือโพลีเอททีลีนชนิดความหนาแน่นสูง มีคุณสมบัติคล้ายกับเคป-ลาร์ ทนต่อแรงดึงได้มากกว่าเหล็กถึงสิบเท่า ข้อเสียคือจุดหลอมเหลวต่ำมากแค่ ๖๖ องศาเซนเซียส ไม่แนะนำให้ใช้ในงานโรยตัวเนื่องจากจะเสียดสีกับห่วงเหล็ก Carabiner และเกิดอุณหภูมิสูง หรืองานที่สูงนอกอาคารซึ่งโดนแดดหรือสภาพแวดล้อมอื่นใดที่อุณหภูมิสูงถึงจุดหลอมเหลวของเชือก  
 
บันทึกเพิ่มเติม เชือกเส้นใยสังเคราะห์ที่ซื้อมาเก็บไว้เพื่อใช้งานนานๆ ครั้ง การเก็บรักษาในสถานที่เหมาะสม ทำความสะอาดถูกวิธี จะมีอายุใช้งานสูงสุด ๑๐ ปี ซึ่งในการใช้งานจริงหน่วยงานทำตามหลักการได้ไม่สมบูรณ์ จากการเก็บข้อมูล รวบรวมข้อมูล ค้นหาข้อมูลจากหน่วยงานที่ใช้เชือก พบว่าเชือกที่มีความถี่ในการใช้งานทุกสัปดาห์ ควรเปลี่ยนเชือกทุกสองปี หากใช้งานทุกเดือนหรือนานๆ ครั้ง ควรเปลี่ยนทุกห้าปี  
 

1.2 เงื่อนเชือกและอุปกรณ์ห่วงคล้อง 
ผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับการใช้เชือกต้องมีความรู้และต้องผูกเงื่อนเชือกได้ขั้นต่ำหกเงื่อนคือเงื่อนพิรอด ขัดสมาธิ เงื่อนประมง ตะกรุดเบ็ด บ่วงธนูและเงื่อนเลขแปด
 
  • เงื่อนพิรอด เงื่อนขัดสมาธิ : เงื่อนพิรอดใช้เพื่อต่อเชือกที่มีขนาดเท่ากันส่วนเงื่อนขัดสมาธิต่อเชือกต่างขนาดกัน ภาพจากเว็ปไซด์ kunepan.files.wordpress.com
 
 
  • เงื่อนประมง เงื่อนเลขแปด : เงื่อนประมงใช้ต่อเชือกที่มีขนาดเท่ากันหรือต่างกันก็ได้ ส่วนเงื่อนเลขแปดใช้ผูกเชือกให้เป็นปมหรือเป็นห่วงคล้อง ภาพจากเว็ปไซด์ kunepan.files.wordpress.com
  
 
  • เงื่อนตะกรุดเบ็ด เงื่อนบ่วงธนู : เงื่อนตะกรุดเบ็ดใช้ผูกยึดกับเสา คานหรือโครงสร้าง ส่วนเงื่อนบ่วงธนูใช้ผูกบ่วงคล้อง ภาพจากเว็ปไซด์ kunepan.files.wordpress.com และจาก teen.mthai.com
 
 
  • คาราบินเนอร์ carabiner แบบต่างๆ เป็นทางเลือกซึ่งอาจจะนำมาใช้ร่วมกับการคล้องต่อกับเงื่อนเชือกด้วยก็ได้ ภาพคาราบินเนอร์ rock exotica ยี่ห้อ DMM และ Camp
 

การใช้เชือกบังคับระยะไม่ให้ออกนอกขอบตก เหมาะสมกับการทำงานบนที่สูงขอบเปิด ผู้ปฏิบัติงานต้องสวมฮาร์เนสส์ไว้กับตัว ใช้เชือกยืดตัวต่ำผูกบังคับระยะเพื่อไม่ให้ออกนอกขอบตก สามองค์ประกอบของการใช้เชือกบังคับระยะ fall restraint system แสดงดังรูป (ภาพวาดคนมาจากเว็ปไซด์ https://shopmtn.eu)
 
 
 
ต้องไม่ลืมว่าเอ A anchorage point จุดยึดเกาะเชือกบังคับระยะต้องรับแรงกระตุกได้ไม่น้อยกว่า ๑๕๐ กิโลกรัม พิกัดเผื่อความปลอดภัย ๓.๕ เท่า ส่วนบีหมายถึงสายรัดแบบเต็มตัว full body harness และซี connectors หากเชือกยืดตัวต่ำใช้ร่วมกับอุปกรณ์คล้องต่อแล้ว (assembly length) ความยาวรวมทั้งหมดต้องไม่เป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติงานออกนอกขอบตก & ต้องถูกเชือกรั้งดึงเอาไว้
สำหรับการยึดเชือกกับจุดยึดเกาะและยึดกับสายรัดลำตัว มีสองวิธีคือผูกเงื่อนโดยตรงกับอุปกรณ์และวิธีที่สองคือผูกเงื่อนเลขแปดที่ปลายเชือกหัวท้ายและใช้ carabiner ยึดเกาะ กรณีหลังนี้แนะนำให้ใช้คาราบินเนอร์แบบกึ่งอัตโนมัติ (semi-automatic) จะสะดวกปลอดภัยกว่าแบบ manual ซึ่งต้องขันเกลียวล็อคด้วยมือ และก็ยังปลอดภัยกว่าแบบสปริงอัตโนมัติ (automatic) อีกด้วย  

2. การรั้งผู้ปฏิบัติงานอยู่กับที่เพื่อทำงานบนต้นเสา
 
การทำงานบนต้นเสาด้วยวิธีนี้ ผู้ปฏิบัติงานจะยืนไม่เต็มเท้าและต้องทำงานด้วยท่าทางที่ไม่เป็นธรรมชาติ กล้ามเนื้อมัดใหญ่ด้านหน้าขา กล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่น่องและกล้ามเนื้อส่วนขาอื่นๆ อยู่ในภาวะหดเกร็งเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ลดลง ทำให้เมื่อยล้าเร็วกว่าปกติ ในทางวิศวกรรมความปลอดภัยการทำงานบนที่สูง แนะนำว่าหากจำเป็นควรอนุญาตให้ทำงานไม่ควรเกิน ๑๕ นาที หากนานกว่านี้ต้องใช้อุปกรณ์อื่นแทน เช่นใช้รถกระเช้า กระเช้ายกคน ใช้นั่งร้าน ฯลฯ เป็นต้น
จะอย่างไรก็ตาม บางลักษณะงานก็ใช้เวลาเพียงสั้นๆ สั้นกว่าสิบห้านาทีและบวกกับอาจมีความจำเป็น จึงต้องให้ผู้ปฏิบัติงานได้เรียนรู้ทำความเข้าใจก่อนเริ่มทำงาน
 
 
 
อุปกรณ์รั้งผู้ปฏิบัติงานอยู่กับที่เพื่อทำงานบนต้นเสา บางเอกสารอาจเรียกว่าชุดอุปกรณ์ lineman harness ซึ่งใช้ทำงานได้ทั้งเสาต้นเดี่ยวและเสาที่เป็นลักษณะโครงถัก สิ่งที่ต้องระวังดังเดิมคือขอบคมหรือขอบเหลี่ยมของจุดยึดเกาะ ภาพประกอบบางส่วนจากเว็ปไซด์ jlmatthews.com  fishertools.com และเว็ปไซด์ jelco.ca

3. งานเชือกโรยตัวเพื่อทำงานบนผนังสูง
 
มีความเหมาะสม ง่ายและสะดวกเมื่อต้องการทำงานบนผนังสูง ผนังสูงอาจหมายถึงผนังอาคารสูง สิ่งปลูกสร้างทั่วๆ ไป ปล่องไฟหรือผนังของปล่องปล่อยก๊าซเสียโรงงานก็ได้ ตัวอย่างการทำงานเช่น งานทาสีผนังอาคาร งานเช็ดกระจก งานซ่อมรอยรั่วผนัง งานซ่อมบำรุงอุปกรณ์บนผนัง งานสอบเทียบเครื่องมือวัดปล่องทิ้งก๊าซเสีย ฯลฯ หรืออื่นใดที่คล้ายกัน & คล้ายกับงานที่กล่าวถึงนี้ก็ได้  
 
อุปกรณ์และฟังก์ชั่นอุปกรณ์เชือกโรยตัว  
 
  • จุดยึดเกาะเชือกโรยตัว working line มีสองลักษณะคือยึดกับโครงสร้างถาวรหรือจุดยึดเกาะชั่วคราว กรณีที่สร้างจุดยึดเกาะชั่วคราวไม่ได้ให้ใช้วิธีใช้น้ำหนักถ่วง counter weight ขนาดก้อนละ ๒๕ กิโลกรัม ภาพประกอบจากเว็ปไซด์ gmsweighing.com  
จุดยึดเกาะโครงสร้างถาวรหรือจุดยึดเกาะที่สร้างขึ้นชั่วคราว ให้ใช้ค่ากระตุกโหลดตามมาตรฐานทั่วไปคือ ๑๕๐ กิโลกรัมคูณด้วยพิกัดเผื่อความปลอดภัย ๓.๕ เท่า และกรณีใช้ก้อนน้ำหนักถ่วงขนาดมาตรฐานยี่สิบห้ากิโลกรัม ให้คำนวณโดยคิดน้ำหนักคนที่ ๗๐ กิโลกรัมคูณพิกัดเผื่อความปลอดภัย ๓.๕ เท่า จะมีค่าเท่ากับ ๒๔๕ กิโลกรัม ฉะนั้นต้องใช้ก้อนน้ำหนักถ่วงขนาดมาตรฐานจำนวน ๒๔๕  หารด้วย ๒๕ จะได้เท่ากับ ๑๐ ก้อนต่อหนึ่งคนทำงาน  
 
  
 
 
 

  • เชือกโรยตัวเส้นหลักและเชือกสำรอง working line and safety line ให้ใช้ เชือกยืดตัวต่ำสีโทนสว่างสะท้อนแสง แนะนำเส้นใยชนิดโพลีเอสเตอร์ ขนาด ๑๒.๕ มิลลิเมตร หากจะใช้ขนาดอื่นจาก ๑๑-๑๕ มิลลิเมตร ถือว่ายอมรับ ผู้ที่ใช้เชือกโรยตัวต้องมีความสามารถผูกเงื่อนได้ขั้นต่ำหกเงื่อนคือเงื่อนพิรอด ขัดสมาธิ ประมง เงื่อนเลขแปด ตะกรุดเบ็ดและเงื่อนบ่วงธนู
  • อุปกรณ์ปล่อยเชือก self-braking descender หน้าที่คือกลไกจะล็อคเชือกเมื่อต้องการคงระดับผู้ปฏิบัติงาน เมื่อคลายล็อค-อุปกรณ์จะปล่อยเชือก ผู้ปฏิบัติก็จะเคลื่อนลดระดับลงได้โดยน้ำหนักตัวผู้ปฏิบัติงานเอง ในกรณีจะปรับระดับขึ้นให้จับ-มือจับเชือก (anti-slip rope grab) และดึงขึ้นและปล่อยมือจับเชือกเพื่อให้ล็อคเชือกเส้นสำรอง (safety line) เป็นช่วงๆ ขณะมือจับ-จับเชือกสำรองอยู่นั้นก็ให้ปลดขยับอุปกรณ์ปล่อยเชือก self-braking descender ขึ้นตาม
  • work positioning harness สายรัดเต็มตัวสำหรับงานเชือกโรยตัว จะถูกแขวนไว้กับเชือกหลัก โดยมีอุปกรณ์ปล่อยเชือกเกาะเอาไว้ ส่วนฮาร์เนสกับเชือกสำรองจะมีแลนยาร์ด อีกเส้นติดตั้งร่วมไว้กับอุปกรณ์เกาะเชือกเอาไว้ (anti-slip rope grab) ต้องไม่ลืมว่าที่ฮาร์เนสส์ห้ามมีเชือกแขวนเพียงเส้นเดียว ต้องมีเชือกสำรองเกาะร่วมอยู่ด้วยเสมอ เหตุผลคือกรณีเชือกหลักหรืออุปกรณ์บนเชือกหลักขัดข้อง เชือกสำรองฯ ต้องทำงานเพื่อไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานตกลงไปด้านล่าง (อุปกรณ์ยีห้อ Petzl จากเว็ปไซด์ advexp.com มือจับยี่ห้อ SUT จาก newbecca.com และภาพฮาร์เนสยี่ห้อ KAYA)
 
 
 
  • lanyard assembly หมายถึงแลนยาร์ดที่ประกอบร่วมอยู่กับอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ในที่นี่คืออุปกรณ์จับเชือก (anti-slip rope grab) ซึ่งเชื่อมเกาะอยู่กับเชือกสำรองนั่นเอง
  • swing seat (optional) หมายถึงเปลรองนั่ง หนังสือบางเล่มเรียกว่า cradle ก็มีความหมายเช่นเดิม เป็นระดับอุปกรณ์เสริมซึ่งติดตั้งร่วมไว้กับฮาร์เนสและอุปกรณ์รับโหลดทั้งหมดก็ยังเป็นฮาร์เนส ฉะนั้นจะนำมาใช้หรือไม่ใช่ก็ได้ (optional) หากใช้ก็จะมีความสบายในการนั่งทำงานมากขึ้น

4. อุปกรณ์ป้องกันการตกแบบฟันโลหะบีบล็อค wire rope crab
 
จุดยึดเกาะ a-anchorage point ของระบบนี้ อาจจะใช้เชือกยืดตัวต่ำ (low stretch rope) หรือสลิงเหล็กขึงตึงตามแนวดิ่งก็ได้ ส่วนมากจะใช้สลิงเหล็กขึงตึง วิธีการคือประกอบชุดอุปกรณ์ป้องกันการตกแบบฟันโลหะบีบล็อค wire rope crab (or detachable cable sleeve) เข้ากับสายยึดเกาะ ปลายอีกด้านให้เกาะกับห่วงด้านหน้าอกของฮาร์เนสส์ เมื่อเกิดเหตุตกจากที่สูง ฟันของอุปกรณ์จะบีบล็อคสลิงไว้ ผู้ปฏิบัติงานจะถูกแขวนค้างไม่ตกลงไปด้านล่าง 
อุปกรณ์ของระบบ 
 
  • anchorage point จุดยึดเกาะอุปกรณ์ เป็นเชือกหรือสลิงขึงตึงตามแนวดิ่งหรือเรียกว่า สะ-แต-ติกส์-ลายน์ จริงแล้วสแตติกส์ลายน์จะมีสองแบบคือขึงตามแนวดิ่งและขึงตามแนวนอน สำหรับการป้องกันการตกวิธีนี้ เราจะใช้แบบแนวดิ่งเท่านั้น vertical static line
  • body harness ให้ใช้แบบมีห่วงคู่ที่หน้าอกซ้ายขวา
  • connectors เป็นชุดอุปกรณ์ป้องกันการตกแบบฟันโลหะบีบล็อค wire rope crab or detachable cable sleeve ภาพอุปกรณ์ยีห้อ SALA และภาพประกอบจากเว็ปไซด์ directory.africa-business.com
 


สแตติกส์ลายน์ อุปกรณ์สแตติกส์ลายน์ static line 
 
  • เร่งเกลียว turn buckle ติดตั้งด้วยคลิ๊ปอานม้าไว้ที่ปลายด้านเดียวของสลิงสแตติค-ลายน์ ส่วนปลายอีกด้านจะยึดไว้กับต้นเสาหรือโครงสร้างอื่นใดที่แข็งแรงก็ได้
  • สลิงสแตติกลายน์ เส้นผ่าศูนย์กลางเล็กสุดคือสิบมิลลิเมตร หากโตเกินไปก็ติดตั้งยากลำบาก ขนาดที่แนะนำคือ ๑๒.๕ มิลลิเมตรหรือภาษาตลาดเรียกว่าสลิงครึ่งนิ้ว
  • คลิ๊ปอานม้าแบบ single saddle และปลอกรับห่วงสลิง (thimble) ซึ่งทั้งสองอุปกรณ์นี้ต้องเป็นขนาดเดียวกับสลิง  
 
 
 
ตารางข้อมูลเกี่ยวกับการติดตั้งสลิงขึงตึงสแตติกลายน์ 
 
  • size-inch หมายความว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของสลิง แสดงหน่วยเป็นนิ้ว
  • number of clips จำนวนคลิ๊ปอานม้าที่ใช้ ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดสลิง
  • การหันหัวน๊อตคลิ๊ปอานม้า ต้องหันไปทางเดียวกันฝั่งตรงกันข้ามกับหางสลิง
  • ระยะห่างคลิ๊ปอานม้า ให้คำนวณจากเส้นผ่าศูนย์กลางของสลิงคูณด้วยหก
  • turnback length ระยะพับทบทำห่วงสลิง ตามตารางแสดงค่าหน่วยเป็นนิ้ว หมายถึงระยะตั้งแต่ห่วงสลิงโค้งนอกถึงปลายสุดของสลิงที่ตวัดพับทบเข้ามา
  • thimble ปลอกรับห่วงสลิง เมื่อต้องการพับทบสลิงให้ใช้ปลอกรับห่วงสลิงทุกครั้ง และขนาดของปลอกสลิงต้องตรงกับขนาดของสลิง
  • แรงขันกวดคลิ๊ปอานม้า หากใช้ประแจปอนด์ก็จะปรับตั้งค่าได้ หากไม่มีฯ ก็ให้ใช้ประแจแหวนขันให้ตึงและใช้น้ำหนักร่างกายดึงโยกขันแน่นเข้าไปอีกประมาณห้าองศา ข้อระวังคือขันกวดไม่แน่นก็จะลื่นรูด หากขันแน่เกินไป ไส้สลิงก็จะแตก ก็จะลื่นรูดเช่นเดียวกัน
 
ตัวอย่างใช้คลิ๊ปอานม้ากับสลิงครึ่งนิ้ว ต้องมีองค์ประกอบ (parameter) คือระยะพับทบ ๑๑.๕ นิ้ว ใช้คลิ๊ปสามตัว แรงขันกวดหกสิบห้าฟุต-ปอนด์ ฯลฯ เป็นต้น  


5. ใช้ม้วนสลิงแบบกระตุกหยุด retractable lift line
 
ม้วนสลิงแบบกระตกหยุดมีหลายความยาว ตั้งแต่ ๕-๔๐ เมตร ในภาคภาษาไทยงานขายมักจะเรียกว่าสายช่วยชีวิตชนิดดึงหยุดและอีกหลายชื่อ อาจแตกต่างกันอยู่บ้าง เอกสารฉบับนี้ใช้รูปร่างทางกายภาพซึ่งมีลักษณะเป็นม้วนตลับ บวกรวมกับฟังก์ชั่นการทำงานจึงใช้ชื่อดังกล่าว จะอย่างไรก็ตามอยากแนะนำให้เรียกชื่อทับศัพท์ตามต้นฉบับเดิม จะสื่อสารให้เข้าใจได้สะดวกกว่า สามชื่อที่เรียกอุปกรณ์นี้คือ retractable lift line, fall arrest block และอีกชื่อหนึ่งคือ inertia reel  
 
อุปกรณ์จะใช้งานเพื่อป้องกันการตกตามแนวดิ่ง เมื่อเกิดเหตุกลไกของอุปกรณ์จะทำงานคล้ายเซฟตี้เบลท์รถยนต์ หมายถึงเมื่อเกิดเหตุมีแรงกระชากเร็วกว่าการเคลื่อนที่โดยปกติของคน กลไกจะล็อคหยุดสายแลนยาร์ดป้องกันคนตก ซึ่งกลไกระบบเบรคจะล็อคแลนยาร์ดค้างไว้ต่อเนื่อง กระทั่งมีการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุโหลดที่รั้งค้างถูกปลดปล่อย ระบบเบรกก็จะให้สายแลนยาร์ดดึงเคลื่อนที่เข้าออกได้เป็นอิสระเหมือนเดิม
A self-retracting lanyard is a vertical lifeline that is used as part of a complete fall restraint system. The lifeline, much like the seat and shoulder belt in a car, pulls out and retracts easily. Subjected to a quick tug, however, an internal mechanism acts to engage a braking system. When the tension is released, the lifeline moves freely again. เมื่อใช้งานให้เกาะตะขอ snaphook ของอุปกรณ์เข้าโดยตรงกับห่วงของฮาร์เนสส์  
 
ระบบจะเหมาะสมใช้งานกับการไต่ขึ้นลงที่สูงตามแนวดิ่ง งานโหลดขึ้นลงสินค้าหรือลักษณะงานซ่อมบำรุงที่ทำงานบนเพลทฟอร์มต่างระดับ ฯลฯ เป็นต้น ภาพประกอบเป็นอุปกรณ์ยี่ห้อ halo และยี่ห้อ 3M  
 
การตรวจสอบ ตรวจสภาพอุปกรณ์
 
การประยุกต์ใช้วิธีทำงานบนที่สูงด้วยระบบนี้มีห้ารูปแบบ คือหนึ่งใช้เชือกบังคับระยะไม่ให้ออกนอกขอบตก สองรั้งผู้ปฏิบัติงานอยู่กับที่เพื่อทำงานบนต้นเสา สามงานเชือกโรยตัวเพื่อทำงานบนผนังสูง สี่ใช้อุปกรณ์ป้องกันการตกแบบฟันโลหะบีบล็อค และลำดับที่ห้าคือใช้ม้วนสลิงแบบกระตุกหยุด retractable lanyard เงื่อนไขอุปกรณ์ต้องผ่านการตรวจสอบและตรวจสภาพดังนี้ 
 
 
 
  • อุปกรณ์ที่นำมาใช้งานต้องได้มาตรฐาน มีมาตรฐานรองรับ
  • อุปกรณ์ผ่านการตรวจสภาพโดยวิศวกรทุกรอบปี มีบันทึกให้สอบกลับได้
  • อุปกรณ์ผ่านการตรวจสภาพก่อนใช้งานโดยผู้ใช้ซึ่งมี Certificate ทำงานบนที่สูง
 
 
วิธีตรวจสภาพฮาร์เนสส์ก่อนใช้งานโดยผู้ใช้ด้วยสายตา visual inspection 
 
ให้ตรวจสภาพโดยแบ่งออกเป็นสามส่วนย่อยคือส่วนที่เป็นโลหะ ส่วนที่ไม่ใช้โลหะเช่นปลอกพลาสติกแข็งหรืออื่นๆ ที่ไม่ใช่โลหะและสามคือแถบแบนเส้นใยสังเคราะห์ หากพบข้อบกพร่องให้แจ้งหัวหน้างานเพื่อทราบและการใช้งานต่อหรือเลิกใช้ให้อยู่ในดุลยพินิจของหัวหน้างาน 
 
  • ไม่มีป้ายแท๊กแท็กซึ่งแสดงมาตรฐานและแสดงข้อมูลจำเพาะ
  • ส่วนที่เป็นโลหะ ต้องไม่แตกหัก มีรอยร้าว เสียรูปมองเห็นชัดเจน เป็นสนิมรุนแรงและเมื่อเคาะสนิมออกเห็นตามด pin hold ชัดเจน
  • ส่วนที่ไม่เป็นโลหะเช่นปลอกพลาสติกแข็ง ต้องมีครบไม่ขาดวิ่น
  • สายแถบแบนเส้นใยสังเคราะห์ ต้องไม่มีตำหนิเกี่ยวกับโดนบาดด้านข้าง โดนบาดด้านหน้า แทงทะลุมองแสงลอดผ่านได้ชัดเจน ฝีเย็บหลุด โดนเปลวไฟ โดนเคมีกัดกร่อน ขาดขุยและซีดจางไม่ทิ้งสีเดิม 
 
ติดต่องานฝึกอบรม  แปลเอกสารเซฟตี้  งานที่ปรึกษาการจัดทำระบบฯ  : บริษัท เอเซีย แสงตะเกียง จำกัด (ASSA) Tel 093 7719222  E-mail : sangtakieng@gmail.com 


กลับหน้าแรก คลิ๊กตรงนี้
ตอนที่หนึ่ง (๑.๑) ที่สูง ความเข้าใจเกี่ยวกับงานบนที่สูง : คลิ๊กตรงนี้ 
ตอนที่หนึ่ง (๑.๒) ที่สูง ความเข้าใจเกี่ยวกับงานบนที่สูง : คลิ๊กตรงนี้ 
ตอนที่สาม อุปกรณ์ลดความรุนแรงจากการตก : คลิ๊กตรงนี้ 
ตอนที่สี่ ม้ายืน บันไดและความปลอดภัยการใช้งาน : คลิ๊กตรงนี้ 
ตอนที่ห้า การควบคุมของตกและวิธีปิดกั้นควบคุมพื้นที่ปฏิบัติงาน : คลิ๊กตรงนี้
ตอนที่หก (๖.๑) องค์ประกอบความปลอดภัยงานที่สูง และกฎหมาย : คลิ๊กตรงนี้
ตอนที่หก (๖.๒) องค์ประกอบความปลอดภัยงานที่สูง และกฎหมาย : คลิ๊กตรงนี้ 
ตอนที่เจ็ด กระเช้ายกคนด้วยรถเคน HOLD รอ-กำลังพัฒนา : คลิ๊กตรงนี้ 
ตอนที่ รถกระเช้าและการใช้รถกระเช้าอย่างปลอดภัย : คลิ๊กตรงนี้
ไปยังเมนู หลักสูตรที่ฝึกอบรมและสัมมนา คลิ๊กตรงนี้ 
  
MENU
 
WEB LINK
 
VISIT
 สถิติวันนี้ 3 คน
 สถิติเมื่อวาน 120 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
2770 คน
24101 คน
906153 คน
เริ่มเมื่อ 2012-10-14
 
Copyright (c) 2006 by Ronnarong